รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เรื่อง การกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ และการบังคับใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็น วันที่ 1 กรกฎาคม 2564

editor image


รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

เรื่อง  การกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ และการบังคับใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็น

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564


ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข รัฐบาลจึงออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) เพื่อบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 โดยมีการควบคุมกลุ่มแรงงานก่อสร้าง การจำกัดการรวมกลุ่มบุคคลไม่เกิน 20 คน และร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มให้บริการได้เฉพาะการนำไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1. มาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ

เพื่อการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างเร่งด่วนสำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา โดยดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน และให้ประเมินสถานการณ์ ความเหมาะสมของมาตรการ และข้อปฏิบัตินี้ทุก 15 วัน รวมทั้งให้นำมาตรการควบคุมแบบ บูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2564 ใช้บังคับกับพื้นที่จังหวัดดังกล่าวข้างต้นที่ไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนดนี้

2. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในปริมณฑล พิจารณาสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือโครงการจัดสรรทุกประเภท ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และให้มีคำสั่งปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร รวมทั้งมีคำสั่งให้หยุดการทำงาน และห้ามเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน อย่างน้อย 30 วัน

3. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานของสถานประกอบการและโรงงาน เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ของผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบการและโรงงาน รวมทั้งกำหนดเงื่อนไข เพื่อกำกับหรือจำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่สถานประกอบการหรือโรงงานนั้น ๆ ตลอดจนดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติที่ ศบค. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

4. มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

กำหนดเงื่อนไข เงื่อนเวลา จัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรค โดยปฏิบัติต่อเนื่องอย่างน้อย 30 วันตามรายละเอียดดังนี้

1) ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้าศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ โรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดค้าส่ง ตลาดโต้รุ่ง หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกันที่มีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น

2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้ถึง 21.00 น. งดให้บริการโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทานในศูนย์อาหาร โดยต้องเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลในพื้นที่พักคอย เพิ่มประสิทธิภาพระบบหมุนเวียนอากาศ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

3) โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้าศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆโดยงดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง

        4) ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนเกิน 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค

ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศ เรื่อง คำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 34) รวมถึงมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด โดยให้ดำเนินการเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ซึ่งมีมาตรการและข้อปฏิบัติดังนี้ 

1. ปิดสถานที่และบังคับใช้มาตรการตามที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 32 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 และ ฉบับที่ 33 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 

2. ปิดสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงรื้อถอนอาคารทุกประเภทตามกฏหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือโครงการจัดสรรทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และสถานที่พักอาศัยชั่วคราวของคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงรื้อถอนอาคาร ให้หยุดการทำงานและห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยสถานที่พักอาศัยชั่วคราวที่มีคำสั่งปิดอาจใช้เพื่อเป็นสถานที่กักกัน สถานพยาบาล โรงพยาบาลสนามชั่วคราว หรือเพื่อประโยชน์ต่อการควบคุมโรคได้ตามความเหมาะสมภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุข

3. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ โรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดค้าส่ง ตลาดโต้รุ่ง หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน และมีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น

4. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ สามารถเปิดได้ถึง 21.00 น. โดยงดให้บริการโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทานในศูนย์อาหาร โดยต้องเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลในพื้นที่พักคอย เพิ่มประสิทธิภาพระบบหมุนเวียนอากาศ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

5. โรงแรมศูนย์แสดงสินค้าศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ โดยงดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง

6. ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนเกิน 20 คน เว้นแต่กรณีที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมทีดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค

7. งดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่มในลักษณะงานสังสรรค์ จัดเลี้ยง หรืองานรื่นเริง เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยม ที่เตรียมการไว้แล้ว และต้องมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

กรณีนอกเหนือจากประกาศนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 และ (ฉบับที่ 33) ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 กรณีที่ประกาศมีความขัดแย้งกัน ให้ปฏิบัติตามประกาศฉบับที่ 33 และต้องไม่ขัดแย้งกับประกาศนี้

ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

5. มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในเขตชุมชน

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย เข้าตรวจเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่เสี่ยง และเข้าคัดกรองเชิงรุก พร้อมทั้งจัดให้ผู้มีความเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อเข้ารับการแยกกัก กักกัน หรือคุมสังเกต หรือเข้ารักษาตามกระบวนการทางสาธารณสุข เมื่อพบการระบาดแบบกลุ่มก้อน ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถดำเนินการตามกฏหมายสั่งปิดชุมชนหรือสถานที่ดังกล่าวเป็นการชั่วคราว หรือกำหนดเงื่อนไขกำกับ จำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเข้าออกพื้นที่ระบาด และดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีและ ศบค. กำหนด ต่อไป

6. การให้ความช่วยเหลือประชาชน

เมื่อมีคำสั่งดำเนินมาตรการตามข้อ 5 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร หรือจิตอาสา โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่ หรือจำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่จากการระบาดแบบกลุ่มก้อนในเขตชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่ควรได้รับความช่วยเหลือ

7. กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทางตามแนวทางที่ ศปก. ศบค. กำหนดเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน ตามรายละเอียดดังนี้

1) เส้นทางเข้าออกจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา) ตั้งจุดตรวจหรือ จุดสกัด โดยบุคคลที่จะเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดข้างต้น ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ และเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้นตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 กำหนด

2) เส้นทางเข้าออกกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร) ตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัด เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน เดินทางเข้าออกได้เฉพาะแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเพื่อทำงานข้ามจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดต้นทางและปลายทาง สำหรับประชาชนทั่วไปให้พิจารณาตามความจำเป็น

3) เส้นทางเข้าออกจังหวัดอื่น ๆ ตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัด คัดกรองอย่างเข้มงวด เมื่อพบผู้เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้สังเกต แยกกัก หรือกักกันในพื้นที่พำนัก หรือสถานที่ที่ทางราชการกำหนด หรือตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข หรือ ศบค. กำหนด

8. การปราบปรามผู้กระทำผิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดตรวจตราไม่ให้มีการรวมกลุ่มมั่วสุมกระทำการผิดกฎหมาย เช่น เล่นพนัน เสพยาเสพติด แข่งรถในทาง หรือการฝ่าฝืนของสถานบริการในพื้นที่ที่มีข้อกำหนดห้ามไว้ ทั้งนี้หากผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบ ขนย้าย หรืออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย รับแรงงานต่างด้าวออกจากสถานที่พักที่มีคำสั่งปิดเพื่อเข้าทำงาน โดยไม่ได้คัดกรองโรค ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป หากพนักงานเจ้าหน้าที่ละเลย ย่อหย่อนการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามกฎหมายเพื่อดำเนินการทางวินัยได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

9. มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง

ให้คงการพิจารณาขยายการดำเนินมาตรการการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุด เพื่อลดการเดินทาง ติดต่อสัมผัส และลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่ระบาด โดยพิจารณาให้เพียงพอกับการให้บริการประชาชน 

10. การงดจัดกิจกรรมทางสังคม

งดจัดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่มในลักษณะการสังสรรค์ จัดเลี้ยง หรืองานรื่นเริง ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อย่างน้อยเป็นเวลา 30 วัน เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมตามที่ได้กำหนดเตรียมการไว้แล้ว โดยให้เป็นตามความเหมาะสมและมีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด 

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

สามารถตรวจสอบประกาศและมาตรการของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้

http://www.moicovid.com/ข้อมูลสำคัญ-จังหวัด

อ้างอิง

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/140/T_0001.PDF

http://www.prbangkok.com/th/post/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQzNTI1Mg

http://www.prbangkok.com/th/post/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQ4MzA1Mg

http://www.prbangkok.com/th/post/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQ2Mjg0Mg

###

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากองค์การอนามัยโลก 

https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/situation-reports

ศูนย์ข้อมูลกรมควบคุมโรคติดต่อ โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 

https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ โทร +66 (0) 2694 6000 

https://www.businesseventsthailand.com/en/situation-update-coronavirus-covid-19 หรือ info@tceb.or.th

แชร์บทความ