ทีเส็บจัด ‘ไมซ์คลินิก’ สัมมนาออนไลน์

ทีเส็บจัด ‘ไมซ์คลินิก’ สัมมนาออนไลน์

ให้ความรู้มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการไมซ์

16 สิงหาคม 2564 กรุงเทพฯ: ทีเส็บจัดกิจกรรมไมซ์คลินิกผ่านการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) จับมือสำนักงานประกันสังคม เปิดเวทีให้ความรู้ผู้ประกอบการไมซ์ ซักถามสร้างความรู้ความเข้าใจต่อมาตรการเยียวยาจากผลกระทบโควิด 19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด


editor image


        นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บจัดกิจกรรม “ไมซ์คลินิก” ในรูปแบบการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) เพื่อเป็นเวทีสื่อกลางประสานงานให้หน่วยงานภาครัฐ ร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ประกอบการไมซ์ถึง “นโยบายและแนวทางดำเนินงานสำคัญของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์” ล่าสุด เชิญผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคม ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับนายจ้างและลูกจ้างในอุตสาหกรรมไมซ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไมซ์ได้สอบถามข้อมูลเชิงลึก สร้างความเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามมาตรการเพื่อรับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีผู้ประกอบการให้ความสนใจ ทั้งจากผู้แทนสมาคมด้านไมซ์ ท่องเที่ยว และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน อาทิ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA), สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) (TEA), สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA), สมาคมโรงแรมไทย (THA), สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA), สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TCT), สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (ADT), สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA), สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA) เข้าร่วมฟังสัมมนาออนไลน์กว่า 240 ราย 

editor image

        นายสุรสิทธิ์ ศรีแก้ว ผู้อำนวยการสำนักเงินสมทบ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ทางสำนักงานประกันสังคมได้มีโครงการจ่ายเงินเยียวยาแก่นายจ้างและผู้ประกันตนในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ใน 9 ประเภทกิจการ ครอบคลุมถึงการจัดการประชุมและจัดการแสดงสินค้า จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเยียวยาฯ นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33, โครงการเยียวยาฯ ผู้ประกันตนมาตรา 39 และโครงการเยียวยาฯ ผู้ประกันตนมาตรา 40 อีกทั้งยังมีการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยเนื่องจากรัฐสั่งปิดเพิ่มเติมด้วย

editor image

        โครงการเยียวยาฯ ตามมาตรา 33 นายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท ต่อหัว สูงสุดไม่เกิน 200 คน นายจ้างบุคคลธรรมดา รับเงินผ่านพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น นายจ้างนิติบุคคลรับเงินผ่านบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้กับสำนักงานประกันสังคม โดยนายจ้างจะต้องแจ้งความประสงค์ขอรับการเยียวยาและยื่นเอกสารให้ครบผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th 
        
        สำหรับลูกจ้างตามมาตรา 33 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท ต่อคน (สัญชาติไทย) ผ่านพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 5,000 บาท 

        นอกจากนี้ ในกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยเนื่องจากรัฐสั่งปิด ลูกจ้างร้านอาหารและผู้ประกอบการที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน จะได้รับเงินชดเชย 50% ไม่เกิน 90 วัน 

        สำหรับผู้ประกอบการไมซ์ที่เข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีการส่งคำถามล่วงหน้าเพื่อสอบถามข้อมูล และมีการส่งคำถามสอบถามในช่วงเวลาสัมมนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการทำความเข้าใจในหลากหลายประเด็น อาทิ ขอบข่ายการได้รับสิทธ์เยียวยาของธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ งานแสดงสินค้า และงานประชุม, แนวทางการสนับสนุนกรณีเมื่อธุรกิจถูกสั่งปิดเกิดความเสียหายมากกว่าเงินเยียวยาที่ได้รับ, แนวทางการช่วยเหลือเพิ่มเติมของภาครัฐ, การดำเนินการในกรณีที่ไม่ได้เข้าข่ายอยู่ใน 9 กิจการที่ได้รับสิทธิ์การเยียวยา, การช่วยเหลือในกรณีธุรกิจไม่ได้ถูกรัฐสั่งปิดแต่จำเป็นต้องยุติการดำเนินงาน และในกรณีที่สำนักงานมีหลายสาขา สำนักงานใหญ่ได้รับสิทธิ์เยียวยาแล้ว แต่สาขายังไม่ได้รับการเยียวยา เป็นต้น 

editor image

        นายสุรสิทธิ์ กล่าวว่า การดำเนินงานธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ งานแสดงสินค้า และการจัดประชุม ถือว่าอยู่ในขอบข่ายประเภทที่ได้รับสิทธิ์ในการเยียวยา สำหรับธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ใน 9 ประเภทกิจการที่รัฐประกาศ และธุรกิจที่ไม่ได้ถูกรัฐสั่งปิดแต่ยุติการดำเนินงานเองไม่ถือว่าเข้าข่ายได้รับสิทธิ์ ส่วนธุรกิจที่มีสำนักงานหลายสาขา สาขาย่อยสามารถไปแจ้งข้อมูลกับสำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการหรือผู้ประกันตนมีข้อสงสัยหรือต้องการยื่นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิ์รับการเยียวยา สามารถติดต่อ สำนักงานประกันสังคม ได้ทางสายด่วน 1506 ซึ่งเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

        นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดกิจกรรม “ไมซ์คลินิก” ในรูปแบบการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ครั้งนี้ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการไมซ์ เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐโดยตรงที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งทีเส็บในฐานะหน่วยงานรัฐหลักที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์จะยังคงเดินหน้าประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไมซ์ มีความรู้ความเข้าใจถึงมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างถูกต้องต่อไป   

#####

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ 
ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร  สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
นางสาวปาริฉัตร เศวตเศรนี   ผู้อำนวยการฝ่าย    โทรศัพท์  0 2694 6000     อีเมล parichat_s@tceb.or.th 
นางสาวอนันตา หลีเกษม ผู้จัดการอาวุโส  โทรศัพท์ 0 2694 6000    อีเมล ananta_l@tceb.or.th
นางสาวขวัญชนก อดทน ผู้จัดการ  โทรศัพท์ 0 2694 6000    อีเมล kwanchanok_o@tceb.or.th
บริษัท วิเสจ จำกัด
ยุพาภรณ์ เลิศสัทธากิจ โทรศัพท์ 0 2616 6749-50

แชร์บทความ