รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)




รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

เรื่อง  ยกระดับมาตรการการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต

วันที่ 2 สิงหาคม 2564


ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ลงนามในคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 4202/2564 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ยกระดับมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. ห้ามบุคคลและผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทเข้าจังหวัดภูเก็ต 
ทางบก ได้แก่ด่านตรวจท่าฉัตรไชย ทางน้ำ ได้แก่ท่าเรือทุกท่าในจังหวัดภูเก็ต และทางอากาศ ได้แก่สนามบินนานาชาติภูเก็ต เฉพาะช่องทางภายในประเทศ (ช่องทางต่างประเทศยังสามารถเดินทางได้) โดยยกเว้นบุคคลหรือผู้ขับขี่ยานพาหนะ ดังต่อไปนี้
1.1  รถฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยฉุกเฉิน กู้ชีพ กู้ภัย
1.2  ขนส่งยา วัสดุอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ทางการแพทย์
1.3  ขนส่งสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค สินค้าทางการเกษตร ปศุสัตว์ อาหารสัตว์
1.4  ขนส่งแก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง
1.5  ขนส่งเงินของธนาคาร สถาบันการเงิน
1.6  ขนส่งพัสดุและสิ่งพิมพ์
1.7  ผู้มีความจำเป็นในการเดินทางออกทางช่องทางระหว่างประเทศ สนามบินนานาชาติภูเก็ต (ต้องมีตั๋วโดยสารของวันที่เดินทางเท่านั้น)
1.8  ผู้ที่ได้รับคำสั่ง หรือมีหนังสือมอบหมายจากต้นสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ในด้านการป้องกัน และควบคุมโรคในจังหวัดภูเก็ต
1.9  ผู้ที่ได้รับคำสั่งจากส่วนราชการให้ไปปฏิบัติภารกิจจำเป็นเร่งด่วนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
1.10  ผู้ที่มีนัดหมายตามกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน ซึ่งต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนว่าหากเลื่อนนัดหมาย จะทำให้กระบวนการพิจารณาเสียหายอย่างร้ายแรงหรือมีนัดหมายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือจะเกิดความเสียหายแก่คู่กรณี หรือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
1.11  ขนส่งวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร และอะไหล่ที่ใช้ในการซ่อมบำรุง เฉพาะที่ใช้ในการดำเนินโครงการเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย หรือโครงการของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หรือกรณีจำเป็นเร่งด่วน
1.12  กรณีอื่นใดซึ่งมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องสั่งการให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ประจำด่านตรวจภูเก็ตเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาเป็นรายกรณี 

โดยผู้ได้รับการยกเว้นตามกรณีดังกล่าวข้างต้น ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิดซิโนแวค (Sinovac) ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ครบ 2 เข็ม หรือซิโนแวค (Sinovac) เป็นเข็มที่ 1 แอสตราเซนิกา (AstraZeneca) เป็นเข็มที่ 2  หรือได้รับวัคซีนชนิดแอสตราเซนิกา (AstraZeneca) ไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna)  จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson and Johnson) จำนวน 1 เข็ม มาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน หรือเป็นผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรคโควิด 19 มาแล้วไม่เกิน 90 วัน และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยวิธีการ RT - PCR หรือวิธีการ Antigen Test มาจากนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางถึง

2. นักเรียนนักศึกษาอายุไม่ถึง 18 ปี ที่ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้ และมีความจำเป็นต้องเดินทางเข้า - ออกจังหวัดภูเก็ตเพื่อการเรียนการศึกษาให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาหรือศึกษาธิการจังหวัดออกบัตรประจำตัวรูปแบบเดียวกัน แสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางผ่านเข้า - ออกจังหวัดภูเก็ต และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตทำการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยวิธีการ RT - PCR และออกใบรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ให้มีผลใช้ได้ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน

3. ผู้มีนัดฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 2 ต้องมีใบนัดหมายการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ที่จังหวัดภูเก็ต และต้องได้รับการตรวจ หาเชื้อโควิด 19 ด้วยวิธีการ RT - PCR หรือวิธีการ Antigen Test มาจากนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางถึง

4. ต้องดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" บนสมาร์ทโฟน และเปิดแชร์ตำแหน่งที่ตั้ง (Location) ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต

5. แสดงเอกสารหลักฐานข้างต้น ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อก่อนเข้าจังหวัดภูเก็ต

6. การใช้เส้นทางผ่านด่านตรวจท่าฉัตรไชย ห้ามบุคคล และยานพาหนะทุกประเภทเข้าจังหวัดภูเก็ต ระหว่างเวลา 23.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ยกเว้นมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรง หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

7. ผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตต้องปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด (เว้นระยะห่างระหว่างกัน สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจหาเชื้อโควิด 19 ติดตั้งและสแกนแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ”) 

ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทาง หรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อพนักงาน เป็นผลให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2564

สามารถตรวจสอบประกาศและมาตรการของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้

อ้างอิง

###


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19 จากองค์การอนามัยโลก 
ศูนย์ข้อมูลกรมควบคุมโรคติดต่อ โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ โทร +66 (0) 2694 6000 


แชร์บทความ