รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เรื่อง การผ่อนคลายมาตรการควบคุมบางกรณี ตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2564

editor image

รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

เรื่อง  การผ่อนคลายมาตรการควบคุมบางกรณี ตามระดับของพื้นที่สถานการณ์

วันที่ 21 พฤษภาคม 2564

 

จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกและเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ช่วยให้สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติเพื่อผ่อนคลายมาตรการควบคุมบางกรณี ดังต่อไปนี้

 

การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า

การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่นอกที่พักอาศัยหรืออยู่ในที่สาธารณะอย่างถูกวิธีตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำยังเป็นข้อปฏิบัติจำเป็นอยู่ ในกรณีที่กลุ่มบุคคลจำเป็นต้องเข้าประชุมเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องหลายชั่วโมง ซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาอาจไม่สะดวกหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ในการประชุม หากผู้จัดประชุมได้ปฏิบัติตามมาตรการตรวจคัดกรองบุคคลและดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคอย่างรอบคอบ รัดกุม และเข้มงวดเพียงพอแล้ว เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งการแสดงใบรับรองผลการตรวจของผู้เข้าร่วมงานว่าไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจัดให้มีกระบวนการคัดกรองโดยพิจารณาจากอาการของโรค ประกอบกับได้ดำเนินการภายใต้มาตรการควบคุมการประชุมตามระเบียบหรือข้อบังคับเมื่อเกิดเหตุที่มีความเสี่ยง โดยให้ผู้ควบคุมการประชุมกำหนดให้ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาการประชุม แต่อาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะช่วงเวลาของการอภิปรายหรือแสดงความเห็นในที่ประชุมได้ตามความเหมาะสม และความสมควรแก่เหตุ

การกำหนดพื้นที่สถานการณ์

ปรับระดับเขตพื้นที่สถานการณ์ เพื่อบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ดังนี้

  1. 1. พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ รวม 4 จังหวัด โดยผ่อนคลายมาตรการ ดังนี้

          1.1 ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ให้บริโภคในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้นั่งในร้านได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนที่นั่งปกติ งดบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้จำหน่ายอาหารเพื่อนำไปบริโภคที่อื่นได้ถึง 23.00 น. โดยผู้ให้บริการต้องดำเนินมาตรการคัดกรอง เว้นระยะห่าง และจัดระเบียบผู้ใช้บริการตามมาตรการที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

          1.2 โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทงดใช้อาคารสถานที่เพื่อการเรียน การสอน อบรม หรือกิจกรรมใดๆที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ยกเว้นการใช้เพื่อการเรียนการสอนหรือกิจกรรมสื่อสารทางไกลด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ การใช้เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ ให้อุปการะแก่บุคคล การจัดกิจกรรมของราชการเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเป็นโรงเรียนหรือสถาบันขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งหมดไม่เกิน 120 คน หรือเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

 

  1. 2. พื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดตาก จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนราธิวาส จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดยะลา จังหวัดระนอง จังหวัดระยอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดสงขลา จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวม 17 จังหวัด โดยผ่อนคลายมาตรการ ดังนี้

          2.1 ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 23:00 น. งดบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยผู้ให้บริการต้องดำเนินมาตรการคัดกรอง เว้นระยะห่าง และจัดระเบียบผู้ใช้บริการตามมาตรการที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

          2.2 โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท สามารถใช้อาคารสถานที่เพื่อการเรียน การสอน อบรม หรือกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยพิจารณาตามความจำเป็น และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

 

  1. 3. พื้นที่ควบคุม ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชัยนาท จังหวัดชุมพร จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตรัง จังหวัดตราด จังหวัดนครนายก จังหวัดนครพนม จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดน่าน จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปัตตานี จังหวัดพังงา จังหวัดพัทลุง จังหวัดพะเยา จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดแพร่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดลพบุรี จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดเลย จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสตูล จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสระบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอ่างทอง จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ รวม 56 จังหวัด โดยผ่อนคลายมาตรการ ดังนี้

          3.1 จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และบริโภคภายในร้านได้ตามกำหนดเวลาปกติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง โดยห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

          3.3 โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท สามารถใช้อาคารสถานที่เพื่อการเรียน การสอน อบรม หรือกิจกรรมใดๆที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยพิจารณาตามความจำเป็น และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี

แนวทางการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหรือการดำเนินการของบุคคล สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบระเบียบ และมาตราการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด ในกรณีพบผู้ไม่ปฏิบัติตาม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฏ ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ดำเนินการตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค

ให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศปก. ศบค.) ปฏิบัติการช่วยเหลือ สนับสนุน ดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเตรียมความพร้อมปฏิบัติงานเพื่อกระจาย แจกจ่ายวัคซีน ลงทะเบียนรับวัคซีน ฉีดวัคซีน ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกฯ เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

 

ป้องกันและปราบปรามในการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค

ดำเนินการป้องกันและปราบปรามบุคคลที่มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค เช่น การมีส่วนร่วมกับขบวนการลักลอบเข้าเมือง และการเปิดบ่อนการพนันในพื้นที่ต่างๆ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดเข้มงวด เฝ้าระวัง และให้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อปราบปรามต่อไป

 

การปฏิบัติงานนอกสถานที่

ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณามาตรการขั้นสูง สุด เพื่อลดจำนวนการเดินทางของบุคลากร ลดโอกาสการเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งอาจสั่งการให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ ลดจำนวนบุคคลที่ประจำอยู่ในสถานที่ การสลับวันทำงาน หรือวิธีอื่นใดตามความเหมาะสมโดยพิจารณาให้เพียงพอกับการให้บริการประชาชน เป็นระยะเวลาต่อเนื่องออกไปอีกอย่างน้อยสิบสี่วัน

 

ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

 

จากข้อกำหนด ฉบับที่ 23 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ได้กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยมีกรุงเทพมหานคร อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

  1. 1. ให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 และ ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 30 เมษายน 2564


  1. 2. ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ให้บริโภคในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้นั่งในร้านได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนที่นั่งปกติ ห้ามบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเพื่อนำไปบริโภคที่อื่นได้ถึง 23.00 น. โดยผู้ประกอบการต้องดำเนินมาตรการคัดกรองผู้เกี่ยวข้อง เว้นระยะห่าง และจัดระเบียบผู้ใช้บริการตามมาตรการที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดฯ แนบท้ายประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 (http://www.bangkok.go.th/main/page.php?&140-News&type=detail&id=782)


  1. 3. กรณีนอกเหนือจากนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 และ ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 30 เมษายน 2564


กรณีที่ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 ขัดแย้งกับ ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 ให้ปฏิบัติตาม ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 30 เมษายน 2564

ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

 

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564

 

สามารถตรวจสอบประกาศและมาตรการของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้

http://www.moicovid.com/ข้อมูลสำคัญ-จังหวัด

 

อ้างอิง

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/104/T_0027.PDF

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/082/T_0025.PDF

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/001/T_0001.PDF

http://www.prbangkok.com/th/post/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQ5MzA0Mg

http://www.bangkok.go.th/main/page.php?&140-News&type=detail&id=784

http://www.bangkok.go.th/main/page.php?&140-News&type=detail&id=782

 

###

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากองค์การอนามัยโลก

https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/situation-reports

ศูนย์ข้อมูลกรมควบคุมโรคติดต่อ โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ โทร +66 (0) 2694 6000

https://www.businesseventsthailand.com/en/situation-update-coronavirus-covid-19 หรือ info@tceb.or.th

แชร์บทความ