เร่งพัฒนาบุคลากรไมซ์ในมิติด้านการศึกษา ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตสู่ตลาดแรงงานไมซ์กว่า 20,000 คนภายในปี 2564

10 มีนาคม 2560 กรุงเทพมหานคร: สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เร่งปั้นบุคลากรไมซ์รุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในภาคบริการและภาคแรงงานจำนวนกว่า 20,000 คนภายในปี 2564 จับมือพันธมิตรจัดงาน MICE Academy & Career Day ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 พร้อมเดินหน้าดันไทยเป็นฮับการศึกษาด้านไมซ์แห่งอาเซียน


นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บ มีพันธกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจไมซ์ในประเทศไทย โดยในส่วนของกลยุทธ์ด้านการพัฒนาในปี 2560 อีกขาที่สำคัญอย่างยิ่งในการปูรากฐานอุตสาหกรรมคือภาคการศึกษา ซึ่ง ทีเส็บ ดำเนินงานภายใต้โครง MICE Academy โดยการสร้างเครือข่ายไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศทั้งระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา และความร่วมมือจากภาคการศึกษาไมซ์ในต่างประเทศ อันเป็นต้นน้ำของสายงานด้านวิชาชีพไมซ์ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การศึกษาด้านไมซ์แห่งอาเซียน (ASEAN MICE Education Hub)

โดยวางแผนดำเนินงานใน 5 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการจัดทำงหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากลสำหรับสถาบันการศึกษา (2) โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการ (Coach the Coaches Program) (3) โครงการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนการศึกษาไมซ์ในต่างประเทศ (Roadshow-Academic Exchange Program) (4) โครงการพัฒนาเครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ (MICE Academic Cluster) และ (5) โครงการเชื่อมโยงบัณฑิตสู่สายอาชีพไมซ์ (MICE Academy & Career Day)”

ด้าน นางนิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ทีเส็บ ให้รายละเอียดการดำเนินงานด้าน MICE Academy ภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก คือ กลยุทธ์ที่ 1) การพัฒนาเนื้อหา (Content) ซึ่งประกอบด้วย การจัดทำหลักสูตรและพัฒนาหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากล และวิชาการบริหารและการจัดการด้านอีเว้นท์ (Event 101 เป็นหลักสูตรเข้มข้นที่ให้องค์ความรู้ด้านการจัดงานอีเว้นท์โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นหลักสูตรเล่มแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนป้อนสู่ภาคการศึกษาไมซ์ทั่วประเทศ ในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา กว่า 60 แห่ง และอาชีวศึกษา 47 แห่ง และนอกจากนี้ยังพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เพิ่มเติมในรูปแบบหนังสือกรณีศึกษาไมซ์ (MICE Casebook) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ในแต่ละสาขาของธุรกิจไมซ์ รวมทั้งจัดทำร่างคู่มือมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรีสาขาวิชาไมซ์และอีเว้นท์ (มคอ.1) เพื่อส่งต่อให้กับสถาบันที่เข้าร่วมโครงการหลักสูตรไมซ์นำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนและเกิดการต่อยอดเปิดเป็นภาควิชาไมซ์ ส่วนภาคอาชีวศึกษาได้ผลักดันการสร้างและการขยายกลุ่มอาชีพที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสำหรับกลุ่มอาชีพไมซ์ (กรอ.อศ กลุ่มไมซ์) พร้อมกันนี้ยังเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาขาการจัดประชุมและนิทรรศการใน 5 สถาบันอาชีวศึกษา โดยเปิดสอนในปีการศึกษา 2560 ตั้งเป้าต่อปีผลิตบุคลากรไมซ์รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและเป็นมืออาชีพในระดับอุดมศึกษาจำนวน 4,000 คน และในระดับอาชีวศึกษาในปี 2563 จำนวน 1,000 คน ซึ่งภายใต้การพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรแล้วเพื่อสร้างความเข้าใจในองค์รู้ไมซ์ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการ (Coach the Coaches Program) พัฒนาศักยภาพอาจารย์ผู้สอนหลักสูตรไมซ์ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ คาดว่าปีนี้จะมีผู้สำเร็จหลักสูตรรุ่นที่ 7 นี้กว่า 197 ท่าน จาก 83 องค์กร กลยุทธ์ที่ 2) การสร้างเครือข่าย (Connection & Network) ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล ภายใต้ โครงการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนการศึกษาไมซ์ในต่างประเทศ (Roadshow-Academic Exchange Program) โดยวางแผนขยายเครือข่ายไปยังประเทศออสเตรเลีย และประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบของอุตสาหกรรมไมซ์ และในปัจจุบันนี้ทีเส็บมีหน่วยงานพันธมิตรด้านการศึกษาไมซ์จากต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 8 ประเทศ 49 องค์กร อาทิ ประเทศออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศไต้หวัน และประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากการสร้างเครือข่ายเพื่อยกระดับขีดความสามารถในต่างประเทศแล้ว ยังมีเครือข่ายในภูมิภาค ภายใต้การพัฒนา โครงการพัฒนาเครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ (MICE Academic Cluster) ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านองค์ความรู้ไมซ์ (MICE Coach) ในการแลกเปลี่ยนข่าวสาร องค์ความรู้และร่วมพัฒนาบุคลากร กระจายความคล่องตัวไปยัง Cluster & Settle lite เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และสร้างสรรค์กิจกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืน และที่สำคัญที่สุดคือโครงการเชื่อมโยงบัณฑิตสู่สายอาชีพไมซ์ (MICE Academy & Career Day) ส่งเสริมและผลิตบุคลากรไมซ์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานในสายอาชีพไมซ์ กลยุทธ์ที่ 3) การพัฒนาโครงสร้างภาคการศึกษา (Structure) ยกร่างมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี (มคอ 1) พัฒนาสาขาวิชาไมซ์และสาขาวิชาอีเว้นท์ เพื่อรองรับมาตรฐานการศึกษาไทย อีกทั้งโครงการผลักดันและพัฒนา “อาชีวะ ฝีมือชน คนสร้างชาติ” ในคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) โดย สสปน. ได้รับการมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการในการร่วมพัฒนากลุ่มอาชีพไมซ์ในระดับอาชีวศึกษาของประเทศไทย โดยมีแผนพัฒนา ผลักดัน 5 สถาบันอาชีวศึกษานำร่องเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประเภทวิชาสาขาการจัดประชุมและนิทรรศการ

นางนิชาภา กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ กิจกรรมเชื่อมโยงบัณฑิตสู่สายอาชีพไมซ์ หรือ MICE Academy & Career Day ครั้งที่ 3 ทีเส็บได้ร่วมมือกับสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) และสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ Coach the Coaches Program ครั้งที่ 7 กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การจัดประชุมและนิทรรศการ” เพื่อยกระดังองค์ความรู้ไมซ์ สู่คณาจารย์ทั่วประเทศ

การจัดโครงการเชื่อมโยงบัณฑิตสู่สายอาชีพไมซ์ครั้งที่ 3 นี้ คาดว่าจะมีนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และผู้ประกอบการไมซ์เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายที่ให้องค์ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ โดยเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา อาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันอาชีวศึกษา และหน่วยงานด้านการศึกษาในประเทศไทยและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ที่สนใจในธุรกิจไมซ์ได้ก้าวเข้าสู่สายอาชีพไมซ์อย่างมืออาชีพ และที่สำคัญได้เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาเข้าสมัครงานกับผู้ประกอบการชั้นนำในอุตสาหกรรมไมซ์โดยตรง กว่า 30 บริษัท 300 ตำแหน่งงาน นอกจากนี้ยังมีการเสวนา MICE Career Advisory "ครั้งแรก อย่างไร ให้รอด" โดย ผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมไมซ์ กิจกรรม MICE Talk ตอน แรงบันดาลใจ ความฝัน และการค้นหาตัวเอง โดยเหล่าออนไลน์อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) อย่าง นายภัทรพล เหลือบุญชู (บูม) เจ้าของเฟซบุ๊คแฟนเพจ JapanSalaryMan ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 160,000 คน และผู้เขียนหนังสือ "วิ่งตามฝัน ยังไงก็ชนะ" ร่วมด้วย Trasher Bangkok กลุ่มจัดปาร์ตี้ชื่อดังและยังเป็นเจ้าของคลิปวิดีโอล้อเลียนศิลปินดังที่เป็นที่กล่าวขวัญทางอินเตอร์เน็ต กิจกรรม Dive in Deep ถามมาตอบไปกับ MICE GURU ให้คำปรึกษาสายงานอาชีพไมซ์ กิจกรรมปฏิบัติการ MICE Up (Le) Vel เสริมความรู้ เพิ่มทักษะ สร้างบุคลิกภาพกับผู้เชี่ยวชาญหลักหลายสถาบัน อาทิ สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ จอห์น โรเบิร์ต เพาเวอร์ส บริษัท ท็อปกัน จำกัด บริษัท คอสลุคส์ จำกัด เป็นต้น กิจกรรม MICE Auditions Chair of Chance เก้าอี้แห่งความสำเร็จ แนะนำตัวเองให้โดดเด่นภายใน 60 วินาทีเพื่อเอาชนะใจผู้ประกอบการ งานนี้กำหนดจัดขึ้นในศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“การพัฒนาบุคลากรไมซ์ โดยเฉพาะในมิติด้านการศึกษา ทีเส็บมุ่งยกระดับมาตรฐานหลักสูตรการเรียนการสอนด้านไมซ์ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล และมุ่งเสริมศักยภาพอาจารย์และนักศึกษาไมซ์ ตลอดจนการขยายเครือข่ายภาคการศึกษากับพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การศึกษาด้านไมซ์แห่งอาเซียน (ASEAN MICE Education Hub) ซึ่งภายในปี 2564 ทีเส็บตั้งเป้าหมายผลิตบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานไมซ์จำนวนกว่า 20,000 คน” นายนพรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

######

เกี่ยวกับทีเส็บ

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เป็นหน่วยงานภาครัฐชั้นนำที่มีบทบาทในการพัฒนาและเชื่อมโยงความสำเร็จของการจัดงานเชิงธุรกิจ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ภายใต้กระบวนทัศน์ผู้ขับเคลื่อนความสำเร็จ (Growth Driver) มุ่งเน้นสู่การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจสู่การจัดงานเชิงธุรกิจครอบคลุมทุกความต้องการที่แตกต่าง สู่ความสำเร็จที่เป็นหนึ่งเดียว นอกจากนี้ ทีเส็บยังมุ่งเน้นการพัฒนาประสานเครือข่ายความร่วมมือ เปิดศักราชใหม่ในการต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อวางรากฐานการเติบโตในระยะยาว อันจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

######

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

ส่วนงานสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

นางสาวอริสรา ธนูแผลง             ผู้จัดการอาวุโส     โทรศัพท์ 02-694-6095    อีเมล arisara_t@tceb.or.th

นางสาวฐิติวัลยา ไทยมงคลรัตน์        ผู้จัดการ        โทรศัพท์ 02-694-6103    อีเมล titiwanlaya_t@tceb.or.th

นางสาวขวัญชนก อดทน             ผู้ปฏิบัติการ    โทรศัพท์ 02-694-6096    อีเมล kwanchanok_o@tceb.or.th

นางสาวปนิยดา มุลาลินน์            ผู้ปฏิบัติการ     โทรศัพท์ 02-694-6091    อีเมล paniyada_m@tceb.or.th

แชร์บทความ