ทีเส็บเปิดแผนส่งเสริม “ดีไมซ์” ปี 57 ยกระดับไมซ์ในประเทศสู่ตลาดคุณภาพต่อยอดไมซ์ซิตี้ ผุดง

กรุงเทพฯ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557 - ทีเส็บ เดินหน้ากระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศ  ผุดกิจกรรม “1st Domestic MICE Mart” ขึ้นเป็นครั้งแรก เปิดเวทีจับคู่เจรจาธุรกิจ เล็งยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศสู่ตลาดคุณภาพ กระตุ้นการพัฒนาศักภาพไมซ์ทั้งระบบ พร้อมหารือเอกชนเสนอสร้างจุดขายเฉพาะ5 เมืองไมซ์ซิตี้  ชงรัฐงัดมาตรการภาษี 200% หนุนราชการจัดประชุมในประเทศกระตุ้นโลว์ซีซัน

นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เปิดเผยภายในพิธีเปิดงาน The 1st Domestic MICE Mart ว่า “แนวทางส่งเสริมตลาดไมซ์ในประเทศไทยในปี 2557 นี้ จะเน้นการยกระดับดีไมซ์สู่ตลาดคุณภาพ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ (1) WIN: เดินหน้ากระตุ้นให้เกิดการจัดงานไมซ์คุณภาพในประเทศไทย (2) PROMOTE: สื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อปรับทัศนคติของชาวไทยให้เล็งเห็นว่าการจัดงานไมซ์ในประเทศไทยสามารถจัดได้อย่างมีคุณภาพไม่แพ้จุดหมายใดในโลก (3) DEVELOP: พัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์สู่ความเป็นเลิศทั้งระบบ  รวมถึงให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่การจัดงานไมซ์ โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศร้อยละ 4”


ทีเส็บได้ดำเนินการขยายตลาดและส่งเสริมตลาดของประเทศไทยโดยเน้นการจำแนกกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดให้ชัดเจนและเตรียมแผนงานให้สอดรับกัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม เริ่มจาก


  1. แบ่งกลุ่มตามพื้นที่ของการจัดงาน เน้นการทำตลาดใน 5 เมืองไมซ์ซิตี้เป็นหลัก พร้อมส่งเสริม การนำเสนอศักยภาพของเมืองไมซ์ทางเลือกอื่นๆ อาทิ สุโขทัย พิษณุโลก  ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ อุบลราชธานี รวมทั้งขยายเมืองไมซ์เป้าหมายใหม่ อย่าง นครสวรรค์ ระยอง เขาใหญ่
  2. แบ่งกลุ่มเป้าหมายตามรายอุตสาหกรรม โดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศทั้ง ส่งออก ลงทุนและการจัดงานไมซ์ อย่าง อาหาร เกษตรกรรม ท่องเที่ยว ยานยนต์ พร้อมส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจัดงานไมซ์ในไทยจำนวนมากอย่าง การศึกษา วิชาชีพ และสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งอุตสาหกรรมใหม่ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเป็นพิเศษอย่าง ศิลปวัฒนธรรม พลังงานสะอาด และธุรกิจสร้างสรรค์
  3. แบ่งกลุ่มตามรายวิชาชีพ เน้นกลุ่มบริษัท องค์กรธุรกิจ หน่วยงานราชการส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก รวมทั้งการทำการตลาดร่วมกับสถานที่จัดงาน ที่พัก การขนส่ง สายการบิน สถานที่ท่องเที่ยว พร้อมส่งเสริมตลาดในกลุ่มพนักงานบริษัท และผู้ให้บริการนำเที่ยวเป็นต้น

“แนวทางการกระตุ้นให้เกิดการจัดงานไมซ์ในประเทศเพิ่มขึ้นหรือ WIN นั้น ภายในปีนี้ทีเส็บจะเน้นเจาะกลุ่มราชการ สร้างกระแสให้เกิดการจัดประชุมสัมมนานอกสถานที่ โดยเฉพาะช่วงโลว์ซีซั่น พร้อมทั้งเตรียมเสนอให้มีการผลักดันมาตรการทางภาษี 200% สำหรับการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ นอกจากนี้จะร่วมมือกับภาคเอกชนเร่งพัฒนาบุคลิกของไมซ์ซิตี้แต่ละเมืองให้มีลักษณะเฉพาะสอดรับกับการสร้างงานแสดงสินค้า เช่น ผลักดันเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่งหัตถกรรม มีการจัดงานประจำปี วางรากฐานจากระดับจังหวัดก่อนพัฒนาไปสู่ระดับประเทศ ยกระดับงานเทศกาลประจำปีของเมืองขอนแก่นให้ก้าวสู่ระดับประเทศ เช่น งานไหมนานาชาติขอนแก่น พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการกระจายงานแสดงสินค้าจากส่วนกลางออกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น”


สำหรับงานไฮไลท์กระตุ้นไมซ์ในประเทศประจำปีนี้ คือ การเปิดตัวโครงการ 1st Domestic MICE Mart หรือ   งานไมซ์มาร์ท ครั้งที่ 1 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง สนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายได้รับข้อมูลข่าวสารด้านไมซ์ของไทยอย่างรวดเร็ว และยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมไมซ์ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจะเป็นการช่วยเสริมศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ โดยเฉพาะไมซ์ซิตี้ทั้ง 5 แห่ง ส่งผลให้มีการซื้อขายสินค้าและบริการไมซ์ในประเทศเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไมซ์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการกระจายธุรกิจการค้า รวมทั้งรายได้ออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศมากขึ้น ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม” นายนพรัตน์ กล่าวเสริม


นอกเหนือจากโครงการไฮไลท์ของปีดังกล่าวแล้วนั้น ทีเส็บยังมุ่งหน้างานด้านประชาสัมพันธ์ หรือ Promote ด้วยการสานต่อความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการจัดโครงการ “ลัดฟ้าประชุมเมืองไทย...อิ่มใจ...ตามรอยพระราชดำริ”นำกลุ่มเป้าหมายเยี่ยมชมเส้นทางตัวอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งโครงการจัดแฟมทริปนำชมเส้นทางตัวอย่างส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในส่วนของการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล  ในด้านการส่งเสริมธุรกิจการแสดงสินค้านั้น ทีเส็บให้ความสำคัญกับการทำตลาดการค้าตามจังหวัดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เชียงราย หนองคาย สระแก้ว เพื่อดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย หรือซื้อธุรกิจไทยและนำไปต่อยอดในประเทศของตน ซึ่งการเตรียมความพร้อมของตลาดดีไมซ์จะเป็นการปูทางไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ภายในภูมิภาค ไปสู่การพัฒนาตลาด Intra-Region โดยเฉพาะเมื่อก้าวเข้าสู่ AEC ในขณะที่ด้านของการพัฒนาหรือ DEVELOP นั้นจะได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี เช่น TICA TEA เพื่อสร้างมาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการโดยเน้นในไมซ์ซิตี้เป็นหลัก (Certify Supplier) ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยสำหรับสถานประกอบการ เป็นต้น


นอกจากกลยุทธ์และแผนงานดังกล่าวแล้ว ทีเส็บ ยังได้เตรียมแพคเกจให้การสนับสนุนการจัดงานไมซ์ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เพื่อส่งเสริมให้การเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศเป็นไปตามเป้าหมาย อาทิ การสนับสนุนงานประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Meetings and Incentives) ที่มีผู้เข้าร่วมตั้งแต่ 51-150 คนขึ้นไป จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินเพื่อใช้ดำเนินการจัดกิจกรรม อาทิ การเลี้ยงรับรองอาหารกลางวัน คอฟฟี่เบรค กิจกรรมสันทนาการและความบันเทิง แพ็คเกจอินเตอร์เน็ทไว-ไฟ และบริการรถรับส่ง เป็นต้น  การจัดประชุมองค์กรวิชาชีพ (Conventions) ที่มีผู้เข้าร่วมตั้งแต่ 101-300 คนขึ้นไป จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินเพื่อใช้สำหรับการเชิญวิทยากรบรรยายภายในงาน และการเลี้ยงรับรองอาหารกลางวัน เป็นต้น    


สำหรับงานแสดงสินค้า (Exhibitions) จะเน้นให้การสนับสนุนใน 3 รูปแบบ คือ การสนับสนุนให้เกิดการจัดงานแสดงสินค้าใหม่ ๆ ที่ไม่เคยจัดมาก่อน (Invent) การสนับสนุนงานที่ได้รับความสำเร็จ หรือได้รับการพัฒนาจนมีรูปแบบการจัดงานที่เป็นมาตรฐาน กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ (Clone) และ การสนับสนุนงานที่มีการยกระดับมาตรฐานขึ้นจากงานแสดงสินค้าระดับท้องถิ่นเป็นระดับภูมิภาค โดยทีเส็บจะดำเนินการสนับสนุนทางการเงินสำหรับ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การทำการตลาด การตลาดออนไลน์ การจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ การจัดงานแถลงข่าว และโรดโชว์ เป็นต้น


“ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศนั้น ในปี 2556 อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานไมซ์ทั้งสิ้น 4,414,124 คน คิดเป็นมูลค่าตลาดรวม 12,780 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินงานส่งเสริมดีไมซ์ในปี 2557 นั้น  ทีเส็บวางเป้าหมายในการเติบโตของไมซ์ในประเทศด้านจำนวนคนร้อยละ 2 คิดเป็นจำนวนนักเดินทางกลุ่มดีไมซ์ 4,502,406 คน และเพิ่มจำนวนรายได้จากอุตสาหกรรมไมซ์ ร้อยละ 4 คิดเป็นมูลค่าตลาดดีไมซ์ 13,291 ล้านบาท และที่สำคัญจะเป็นการยกระดับตำแหน่งทางการตลาดของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นสู่การเป็นตลาดไมซ์คุณภาพของภูมิภาคเอเชียโดยเริ่มจากรากฐานที่แข็งแกร่งของธุรกิจไมซ์ภายในประเทศ” นายนพรัตน์ กล่าวสรุป


# # #


รายละเอียดของการจัดงานไมซ์มาร์ทครั้งที่ 1 (1st Domestic MICE Mart)


สำหรับการการจัดงาน 1st Domestic MICE Mart หรืองานไมซ์มาร์ท ครั้งที่ 1 จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย การจัดสัมมนาให้ความรู้ทางด้านไมซ์ และการออกบูธนิทรรศการประชาสัมพันธ์เมืองไมซ์ซิตี้ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น สำหรับกลุ่มผู้ซื้อมาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจ องค์การบริหารส่วนจังหวัดและตำบล บริษัทขนาดใหญ่ ชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย สมาคมวิชาชีพ และองค์กรต่าง ๆ เช่น หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวนประมาณ 400 คน ไม่น้อยกว่า 100 หน่วยงาน เพื่อพบปะกับกลุ่มผู้ขาย อันได้แก่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ในไมซ์ซิตี้ เช่น ศูนย์ประชุม โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่พิเศษ สายการบิน และผู้จัดบริการดินทาง จำนวน 50 หน่วยงาน ฯลฯ โดยงานไมซ์มาร์ทจะหมุนเวียนกันไปจัดในเมืองไมซ์ต่าง ๆ ระหว่างเดือนมีนาคม – สิงหาคมนี้ ซึ่งงานไมซ์มาร์ทครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันที 25 มีนาคม พ.ศ. 2557 ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

ส่วนงานสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)


นางสาวอริสรา ธนูแผลง ผู้จัดการอาวุโส

โทรศัพท์ 02-694-6095              

อีเมล arisara_t@tceb.or.th


นายพิษณุ พลายแก้ว ผู้จัดการ        

โทรศัพท์ 02-694-6000              

อีเมล pishnu_p@tceb.or.th

แชร์บทความ