ทีเส็บสบโอกาสตลาดไมซ์เอเชียมาแรง เร่งแผนเจาะตลาด 5 เสือเอเชียเพิ่มยอด

กรุงเทพฯ / 24 เมษายน 2556 – สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ จับกระแสตลาดไมซ์เอเชียกำลังโต เปิดแผนเดินหน้าบุกตลาด 5 เสือเอเชีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ หลังพบว่า ตลาดกลุ่มนี้ทำสถิติจำนวนสูงสุด 5 อันดับแรกตลาดไมซ์เอเชียของไทย ชูกลยุทธ์ขยายเครือข่ายความร่วมมือกับภาคีทั้งในและนอกประเทศส่งเสริมตลาด และพัฒนาบุคลากร จัดเมกะอีเว้นท์ แคมเปญสนับสนุน พร้อมเดินสายโรดโชว์ คาดตลาดไมซ์เอเซียปีนี้เติบโตร้อยละ 7

นายธงชัย ศรีดามา กรรมการ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันประเทศต่างๆ กำลังหันมาให้ความสนใจกับตลาดไมซ์ในภูมิภาคเอเชียเป็นอย่างมาก หลังจากที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังมากว่า 3 ปี และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ประกอบกับอุตสาหกรรมไมซ์ของเอเชียมีการพัฒนามาอย่างยาวนาน ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่างให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจไมซ์ โดยจากการประเมินของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Pacific Asia Travel Association) หรือ PATA ระบุว่า อุตสาหกรรมไมซ์ในเอเชียจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย

“สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี 2555 ตลาดไมซ์จากเอเชียครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คือ มากถึงร้อยละ 65 ของจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ชาวต่างประเทศทั้งหมด คิดเป็นจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ 476,837 คน สร้างรายได้กว่า 42,489 ล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยอย่างมาก จนสภาวการณ์ดังกล่าวได้รับการขนานนามว่าเป็น “ยุคสมัยแห่งไมซ์เอเชีย” โดยมีกลุ่มผู้เดินทางไมซ์เข้ามามากที่สุด 5 อันดับแรกจาก อินเดีย (74,941 คน) จีน (63,955 คน) ญี่ปุ่น (45,424 คน) เกาหลี (37,175 คน) และสิงคโปร์ (35,783 คน) ตามลำดับ

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทีเส็บ เล็งเห็นโอกาสในการกระตุ้นตลาดเอเชีย สร้างรายได้ให้กับประเทศ จึงได้ปรับแนวทางการปรับปรุงภาพลักษณ์องค์กร (Rebrand) พร้อมกับพัฒนาแผนงานตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินงานเพื่อกระตุ้นตลาดไมซ์เอเชียนั้นจะอยู่ภายใต้ 2 ยุทธศาสตร์หลัก ตามแผนแม่บทของอุตสาหกรรมการจัดประชุมและงานแสดงสินค้านานาชาติ พ.ศ.2555-2559 คือ ยุทธศาสตร์แรกการรักษาตลาด เดิม-เพิ่มตลาดใหม่ และ ยุทธศาสตร์ที่สองการเสริมความเข้มแข็งระหว่างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและ ต่างประเทศ นำมาประยุกต์จัดทำแผนและกิจกรรมส่งเสริมในตลาดเป้าหมายดังนี้

1.ตลาดอินเดีย : เน้นกลยุทธ์ขยายตลาดสู่ตลาดเศรษฐกิจใหม่ และกระตุ้นตลาดแบบ Insight Focus Group โดยทั้งส่วนของธุรกิจการประชุมและธุรกิจการแสดงสินค้าจะเร่งเจาะตลาดเฉพาะใน เมืองเศรษฐกิจใหม่ของอินเดีย โดยส่วนของการประชุมจะเน้น 3 เมืองใหม่อย่าง เมืองคอมบาตอร์ เมืองมังกาลอร์ และเมืองปูเน่ ซึ่ง ทีเส็บ กำหนดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายตลาดเพิ่มเติมในปีนี้ หลังจากที่ได้เข้าไปทำตลาดในเมืองหลักอย่าง เมืองมุมไบ เมืองเดลลี และเมืองบังกาลอร์ มาแล้ว ซึ่งเมืองเป้าหมายทั้ง 3 แห่งนี้ เป็นเมืองที่มีอัตราการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและเป็นเมือง อุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ของอินเดีย มีแนวโน้มจะเดินทางเข้ามาประชุม และพักผ่อนเชิงอินเซนทีฟในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ด้านธุรกิจการแสดงสินค้านอกจากการทำการตลาดในเมืองหลักอย่าง เมืองนิวเดลลี และเมืองมุมไบแล้วนั้น ในปีนี้ยังได้เปิดตลาดใหม่ในรัฐกุจาราช ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียมีประชากรมากกว่า 60 ล้านคนและมีเมืองใหญ่ 7 เมืองในรัฐนี้ประกอบด้วย เมืองอาเมดาบัส เมืองสุราช เมืองวาโดดารา เมืองรัชโคตร เมืองบาฟนาการ์ เมืองจามนาการ์ และเมืองจูนากาด รัฐนี้เป็นศูนย์รวมของบริษัทองค์กรที่มากที่สุดในอินเดีย รวมถึงยังมีโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม โดยทีเส็บจะเน้นกลยุทธ์แบบ “Insight Focus Group” ดึงนักธุรกิจและนักลงทุนให้เข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทย ด้วยการนำคณะผู้จัดงานแสดงสินค้าในคลัสเตอร์ของการเกษตรกรรมและอาหาร เครื่องจักรกล ชิ้นส่วนยานยนต์ ไลฟ์สไตล์ การแพทย์และยาไปสร้างเครือข่ายและจับคู่ธุรกิจ พร้อมยังสนับสนุนการเงินให้ผู้จัดงานที่นำงานแสดงสินค้าของตนไปประชา สัมพันธ์กับสมาคมการค้า หรือการประชุมของสมาคมการค้าในประเทศอินเดียอีกด้วย โดยในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมานั้นกลยุทธ์ของการแสดงสินค้าจะเน้นการเพิ่มให้บริษัทจัดงานแสดง สินค้าจากประเทศต่างๆเข้ามาจัดงานในประเทศไทยมากขึ้น นอกเหนือจากการเพิ่มจำนวนผู้แสดงสินค้าและผู้ร่วมชมงานแสดงสินค้า

2.ตลาดจีน: เน้นกลยุทธ์การรักษาตลาดเดิม จับกลุ่มจัดงานขนาดใหญ่ และใช้กลไกภาครัฐในการสนับสนุน โดยธุรกิจการประชุมจะเน้นทำตลาดผ่าน 2 แคมเปญหลัก แคมเปญแรก Mega Event Sustainable Challenge ดึงกลุ่มลูกค้าองค์กรที่มีศักยภาพในการจัดประชุมหรือการท่องเที่ยวเพื่อเป็น รางวัลในระดับ 1,000 คนขึ้นไป เข้ามาจัดงานในประเทศไทย โดยมีวันพักอย่างน้อย 3 วัน ด้วยการสนับสนุนทางการเงินมูลค่า 1 ล้านบาท ส่วนแคมเปญที่สองให้การสนับสนุนแบบขั้นบันได มุ่งรักษาการจัดงานประจำปีอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย อย่างน้อย 3 ปี มุ่งเจาะกลุ่ม 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มบริษัทขายตรง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ การเงินการธนาคาร และกลุ่มบริษัทประกันภัย โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทจะต้องมีผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 ในแต่ละปี โดยแคมเปญนี้ยังได้ขยายไปยังประเทศอื่นๆในกลุ่มเอเชีย ด้านตลาดงานแสดงสินค้าจะเน้นการทำงานร่วมกับภาครัฐของประเทศจีน อาทิ การจัดกิจกรรมการตลาดร่วมกับสมาคมแสดงสินค้าเซี่ยงไฮ้เพื่อจับคู่ธุรกิจกับ สมาคม ด้วยเมืองเซียงไฮ้เป็นที่ตั้งของสมาคมการค้าและบริษัทต่างๆของจีน โดยจะนำเสนองานในคลัสเตอร์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักร เกษตรกรรมและอาหาร นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประชุมของสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ (China Council for the Promotion of International Trade หรือ CCPIT) ทั่วประเทศจีนเพื่อสนับสนุนให้ผู้ส่งออกจีนเข้าร่วมงานในไทยให้มากขึ้นด้วย การสนับสนุนจากภาครัฐของทั้งสองประเทศ

3.ตลาดญี่ปุ่น : เน้นการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานไมซ์ระดับเมือง สำหรับปีนี้ ทีเส็บมีแผนจะลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการประชุมเมืองโอ กินาวา หลังจากที่ปีก่อนได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมใน เมืองต่างๆ ของญี่ปุ่นไปแล้ว 3 เมือง คือ ฟูกุโอกะ โอซาก้า เซนได และล่าสุดต้นปีนี้ ได้ขยายความร่วมมือกับเมืองซัปโปโร ทั้งยังได้ร่วมกับบริษัทการบินไทย สำนักงานโตเกียว และสมาคมส่งเสริมธุรกิจนำเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น (JATA) จากซัปโปโร ร่วมนำคณะบริษัทนำเที่ยวจากญี่ปุ่น 5 ราย มาศึกษาความพร้อมรองรับธุรกิจไมซ์ในกรุงเทพและเชียงใหม่ นอกจากนี้ทีเส็บยังได้ขยายการดำเนินงานและประสานความร่วมมือไปยังองค์การส่ง เสริมการค้าต่างประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่น (เจโทร) เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์ต่อยอดขยายผลไปสู่การค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ

4.ตลาดเกาหลี เน้นกลยุทธ์วางพื้นฐานพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ โดย ทีเส็บ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมผู้จัดงานแห่งประเทศเกาหลี (Korea Exhibition Organizer’s Association : KEOA) และมหาวิทยาลัยชั้นนำในเกาหลี 5 แห่ง ในการพัฒนาบุคคลากรด้านไมซ์ร่วมกัน เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำไมซ์แห่งเอเชีย โดยครอบคลุมใน 4 ด้าน คือ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม 2. การแบ่งปันความรู้ทางด้านวิชาการและงานวิจัย รวมถึงนักเรียนทุนแลกเปลี่ยน 3.ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรอุตสาหกรรมไมซ์ และ 4.การจัดประชุมฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ตลอดจนงานวิจัยร่วมกัน

5.ตลาดสิงคโปร์ : เน้นการทำ visitor promotion ส่งเสริมการขายร่วมกับบริษัทการบินไทย สำนักงานสิงคโปร์ เปิดตัวอินเซนทีฟ แคมเปญ “OptiMICE Pass” เจาะกลุ่มผู้จัดงานประชุมและกลุ่มองค์กรในสิงคโปร์ ที่ต้องการมาจัดประชุมในเมืองไทย โดยนำเสนอค่าโดยสารกรุงเทพ-สิงคโปร์ ในอัตราพิเศษ พร้อมสิทธิประโยชน์มากมาย อาทิ บริการเช็คอินล่วงหน้า เลือกที่นั่งได้ เพิ่มน้ำหนักบรรทุก ช่องทางพิเศษที่สนามบิน และบัตรโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามขนาดของกลุ่มประชุม เริ่มจาก Silver สำหรับกลุ่มขนาด 10-30 คน Gold 31-99 คน และ Platinum ตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป โดยมีวันพักในประเทศไทยอย่างน้อย 2 วัน ต้องจองภายในวันที่ 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2556 แต่สามารถจะเดินทางได้ในช่วงระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2556

จากแผนการกลยุทธ์ดังกล่าวข้างต้น ทีเส็บประมาณการว่าปีนี้จะมีผู้เดินทางไมซ์เอเชียเข้ามาในประเทศไทยทั้งสิ้น 510,276 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ในขณะที่รายได้ของตลาดเอเชียคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 คิดเป็นประมาณการรายได้ 47,966 ล้านบาท ในส่วนของตลาดหลัก 5 ประเทศที่เป็นเป้าหมายหลัก คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10

“นอกจากนี้ ทีเส็บ ยังให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียใหม่ๆ เพื่อขยายฐานนักธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง GMS ที่มีประชากรรวมกัน 250 ล้านคน และกลุ่มเศรษฐกิจอ่าวเบงกอล BIMSTEC ซึ่งมีประชากรรวมกันถึง 1,300 ล้านคน โดยเร็วๆ นี้ ทีเส็บจะจัด โครงการโรดโชว์ Thailand-Myanmar Business Opportunity through exhibition platform พาผู้จัดงานแสดงสินค้า 10 ราย ไปจับคู่ธุรกิจกับสมาคม หอการค้า สมาพันธ์ท่องเที่ยว และหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงสินค้า ณ กรุงย่างกุ้ง เพื่อให้สอดรับกับการเตรียมความพร้อมสู่การเป็น ASEN Connectivity และการเป็นศูนย์กลางแห่งงานแสดงสินค้านานาชาติของภูมิภาคฯ ในอนาคต โดยกิจกรรมด้านการตลาดที่ดำเนินการทั้งหมดนั้นจะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ เป้าหมายการดำเนินงานของทีเส็บเป็นไปตามที่ตั้งไว้คือ อุตสาหกรรมไมซ์เติบโตร้อยละ 5 – 10 คิดเป็นจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ 940,000 คน สร้างรายได้กว่า 88,000 ล้านบาท” นายธงชัย กล่าวสรุป

# # #

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ส่วนงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) 

นางสาวอริสรา ธนูแผลง ผู้จัดการอาวุโส
โทรศัพท์ 02-694-6095
อีเมล์ arisara_t@tceb.or.th
นายสุเมธ กาญจนพันธุ์ ผู้จัดการอาวุโส
โทรศัพท์ 02-694-6096
อีเมล์ sumet_k@tceb.or.th

แชร์บทความ