APEC 2022 ภายใต้แนวคิด BCG

ในปี 2565 ถือเป็นฤกษ์งามยามดี ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติอย่าง เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมเปิดบ้านต้อนรับผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างครบวงจรและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในระดับเวทีนานาชาติ รวมถึงยังสร้างความเชื่อมั่นว่าไทยพร้อมฝ่าฟันอุปสรรคและก้าวเดินไปข้างหน้าร่วมกับประเทศเพื่อนสมาชิกด้วยกัน

เอเปค คือ เวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีเป้าหมายหลักคือ การส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ความมั่งคั่ง และยั่งยืน ของประชาชนในภูมิภาค

แนวคิดหลักของเอเปค 2565

ในช่วงหลังโควิด-19 ไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก จึงตั้งใจส่งเสริมแนวคิด “เปิดกว้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ Open. Connect. Balance.” เป็นเสาหลักของ เอเปค 2565 ในครั้งนี้ ไทยในฐานะเจ้าภาพเล็งเห็นถึงช่องทางเพิ่มโอกาสด้านการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางอย่างปลอดภัย และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม เน้นสร้างสมดุลมากกว่าสร้างผลกำไร โดยมีแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular- Green- Economy Model (BCG) เป็นพื้นฐานสำคัญที่สอดคล้องต่อธีมของเอเปค 2565

ทำไมถึงต้องเป็นแนวคิด BCG

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายประเทศต่างพากันหาวิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว (Disruption) สะท้อนให้เห็นถึงผลเสียจากการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกปล่อยปละละเลย เพราะเหตุนี้ นโยบายเศรษฐกิจ BCG จึงได้ถูกนำเสนอมาขับเคลื่อนเอเปค 2565 เพื่อตอบโจทย์การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล โดยเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ เพิ่มมูลค่า ลดความสูญเสีย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น สิ่งที่ไทยมุ่งผลักดันเป็นหลักคือการ “สร้างความสมดุลในทุกด้าน” หรือ Balance โดยนำแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเปคมาบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของภูมิภาคในระยะยาว

ประเทศไทยเริ่มเตรียมพร้อมแนวคิด BCG เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 1 หารือเชิงนโยบายส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อสร้างการเจริญเติบโตอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และสมดุล ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมกันสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ในการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางการปฏิบัติในยุคหลังโควิด-19 ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ระหว่างสมาชิกของเอเปค 

การหารือเชิงนโยบายครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทั่วโลก รวมถึงเอเปคให้ความสำคัญและดำเนินการอยู่แล้ว เป็นแนวคิดที่สร้างประโยชน์ให้กับหลากหลายธุรกิจ สร้างกำไรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน หัวใจสำคัญของแนวคิด BCG คือการขับเคลื่อนแบบองค์รวมที่ปฏิบัติได้จริง ไทยมีความตั้งใจนำแนวคิด BCG มาเป็นต้นแบบแนวทางการทำงานของเอเปคอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่คนไทยจะได้ร่วมกำหนดแนวทางการเจริญเติบโตของประเทศสมาชิกภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างยั่งยืน

editor image

Credit: Facebook APEC 2022 Thailand

เพื่อสานต่อแนวทางส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดพื้นฐานสำคัญ ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2565 ไทยได้เสนอให้เอเปคจัดทำเอกสารระดับผู้นำ “เป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจ BCG” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค โดยมี 4 เป้าหมายสำคัญ ได้แก่

  1. การจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศซึ่งรวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
  2. การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน
  3. การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
  4. การลดและบริหารจัดการของเสีย เพื่อเร่งการดำเนินงานของเอเปคในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนให้เป็นรูปธรรม

การปรับตัวของอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อสอดคล้องต่อแนวคิด BCG

ทีเส็บ นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้กับอุตสาหกรรมไมซ์ ด้วยการยกระดับมาตรฐานและส่งเสริมการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน โดยทีเส็บร่วมมือกับ 7 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการคาร์บอนบาลานซ์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดงานอีเวนต์และจัดการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ และนางอรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ทีเส็บ เข้าพบผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. พร้อมกับคณะทำงาน เพื่อเข้าร่วมหารือ ต่อยอดความร่วมมือ เพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมไมซ์กับภารกิจลดโลกร้อนและขับเคลื่อนไปสู่ Net Zero Carbon Event ณ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

editor image

อุตสาหกรรมยานยนต์กับแนวคิด BCG 

ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นับว่ามีบทบาทสำคัญในการดำเนินโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียน (BCG) ทางเอเปคได้ร่วมกันหารือเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีใหม่ในยานพาหนะผ่าน APEC Automotive Dialogue 

editor image

นาย กฤษณ์ จันทร์สุวรรณ รองอธิบดีสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า “เพื่อให้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียน (BCG) ที่เป็นส่วนสำคัญของ APEC 2022 อุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคควรคว้าโอกาสและร่วมผลักดันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจัดการกับปัญหาระดับโลกอย่างสิ่งแวดล้อม” 

หนึ่งในวิธีการสร้างอนาคตคาร์บอนต่ำหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาทดแทน อ้างอิงจากตัวเลขยอดการจองรถยนต์ไฟฟ้าของ ‘มอเตอร์โชว์ 2022’ จำนวน 1,520 คัน มากกว่า 10% ของยอดจองรวมทั้ง และหลายค่ายรถยนต์ต่างหันมาให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ทำให้ภายในงานมีการนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 20 รุ่น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนผ่านการมอบส่วนลดกว่า 150,000 บาท และในอนาคต เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ายังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้ถูกนำมาเสนอผ่านรูปแบบงานแสดงสินค้าหรือได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมือของหน่วยงานรัฐและเอกชน 

APEC 2022 สำคัญอย่างไรต่อประเทศไทย

สิ่งสำคัญของการเป็นเจ้าบ้านในครั้งนี้ สร้างโอกาสให้ไทยแสดงบทบาทผู้นำในการกำหนดทิศทางนโยบาย การพัฒนาด้านต่าง ๆ ส่งผลประโยชน์ต่อไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิดให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไทยจะได้ประโยชน์จากการนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ไปแลกเปลี่ยนในที่ประชุมเพื่อขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนในภูมิภาค ในทางกลับกัน ไทยจะได้เรียนรู้ประสบการณ์โดยตรงจากเขตเศรษฐกิจเพื่อนสมาชิกด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เปิดกว้างโดยการเจรจาการค้าเสรี การฟื้นคืนการเดินทางผ่านนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัย และการดำเนินธุรกิจและชีวิตอย่างสมดุล ซึ่งประเด็นเหล่านี้ จะสร้างการพัฒนาที่ดีต่อภูมิภาคในระยะยาวรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย 

References: 

แชร์บทความ