โมเดลเศรษฐกิจ BCG คืออะไร และเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ได้อย่างไร

editor image

หลายคนคงได้ยินคำว่า “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ที่ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยประเทศไทยต้องนำโมเดลนี้มาใช้เพื่อให้ไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจ BCG นี้คืออะไร และเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ได้อย่างไร มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้ 

โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals–SDGs ขององค์การสหประชาชาติ (UN) และยังสอดคล้องกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย 

เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) คือการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิมของไทย ในด้านทรัพยากรชีวภาพ และผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้สารอาหารเพิ่มขึ้น เป็นต้น 

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด โดยเน้นการลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ (Zero Waste) เช่น การนำขยะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ เป็นต้น

เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การควบคุมมลพิษและของเสีย การลงทุนสีเขียว และการจัดงานสีเขียว เป็นต้น 

ทีเส็บ จึงได้ดำเนินงานสอดรับกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้กับอุตสาหกรรมไมซ์ ด้วยการยกระดับมาตรฐานและส่งเสริมการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน โดยทีเส็บร่วมมือกับ 7 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการคาร์บอนบาลานซ์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดงานอีเวนต์และจัดการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 

นอกจากนี้ ทีเส็บยังได้ร่วมดำเนินการกับ อบก. ในการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดกับการจัดงานอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงเครื่องมือการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์ พร้อมทั้งพัฒนาหลักสูตรการชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยไปจากการจัดงานให้แก่ผู้ประกอบการไมซ์และภาคการศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้มีเส้นทางสายไมซ์สุดสร้างสรรค์แบบคาร์บอนต่ำหรือคาร์บอนเป็นศูนย์สำหรับนักเดินทางไมซ์อีกด้วย

จากการใช้เครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตปรินท์ทำให้ในปี 2562 จนถึงปัจจุบันมีการจัดงานและกิจกรรมไมซ์ที่ช่วยลดคาร์บอนได้มากกว่า 2,000 ตัน และทีเส็บได้ดำเนินโครงการจัดการป้องกันขยะอาหาร (Food Waste Prevention) ที่สามารถช่วยผู้ประกอบการไมซ์ลดขยะอาหารได้กว่า 300,000 กิโลกรัม คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 37 ล้านบาท และช่วยลดคาร์บอนฟุตปรินท์ได้มากกว่า 781 ตัน ซึ่งจะเห็นว่าทีเส็บได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด

อีกทั้ง ในปี 2565 นี้ ทีเส็บได้ตั้งเป้าลดคาร์บอนฟุตปรินท์ให้ได้ 100,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (KgCo2e) ผ่านโครงการยกระดับไมซ์สู้วิกฤติโลกร้อน เพื่อนำพาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยไปสู่มิติใหม่อย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดที่ยั่งยืนต่อไป 

การจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างต่อเนื่องนี้จะทำให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของยุควิถีใหม่ในประเด็นที่สังคมโลกให้ความสำคัญ และทำให้ทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางด้านการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืนในทุกรูปแบบ

ที่มาจาก;  

bangkokbiznews.com sdgs.nesdc.go.th nxpo.or.th nxpo.or.th/BCG_Model  prd.go.th  businesseventsthailand.com matichon.co.th


แชร์บทความ