เจาะนวัตกรรม Virtual Event ผู้ร่วมงานต้องการอะไร

editor image

Virtual Event หรืออีเวนต์ออนไลน์ ถือเป็นการพัฒนาทางด้านรูปแบบการจัดงานของวงการไมซ์ที่จำลองพื้นที่จริงมาไว้บนโลกออนไลน์ ซึ่งสามารถเข้าร่วมงานได้จากทั่วทุกมุมโลกที่มีอินเตอร์เน็ตเข้าถึง แม้ Virtual Event จะได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน แต่ก็มีความท้าทายไม่น้อยในการสร้างสรรค์งานให้เป็นที่น่าสนใจ เพราะผู้เข้าร่วมงานกำลังมองหาประสบการณ์ที่เข้ากับความต้องการของพวกเขาโดยเฉพาะ ซึ่งผู้จัดงานจะทำอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้บ้างนั้น มาหาคำตอบไปพร้อมกันเลย 

Audio-only Streaming

จากการเปลี่ยนแปลงของผู้จัดงานที่ให้มีการประชุมสัมมนาผ่านโปรแกรมวีดีโอคอล ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมงานบางส่วนมีอาการ “Zoom Burnout” หรือความเบื่อหน่ายจากการเข้าร่วมประชุมสัมมนาออนไลน์ที่ต้องอยู่บนหน้าจอตลอดเวลาและส่งผลเสียต่อสุขภาพตาที่เหนื่อยล้าจากการจ้องมองจอเป็นเวลานาน ประกอบกับกระแสของการฟังคอนเทนต์เสียงที่มาแรงอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นพอดแคสต์จากอินฟลูเอนเซอร์ ASMR ที่ช่วยให้ผู้ฟังผ่อนคลายด้วยเสียงที่สัมผัสกับวัตถุบางอย่างเช่น เสียงคลื่นกระทบฝั่ง ฝนตก ลมพัด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเล่าเนื้อเรื่องภาพยนตร์ด้วยเสียงที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเห็นภาพที่เกิดขึ้นชัดเจนแม้ไม่ได้ดูหน้าจอ ซึ่งการฟังคอนเทนต์ด้วยเสียงนี้ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ปัจจุบันที่คนเราชอบทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกัน ดังนั้นผู้จัดงาน Virtual Event ควรคำนึงถึงการมีตัวเลือกให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถเลือกรับชมหรือรับฟังได้ทั้งแบบภาพและเสียงตามความสะดวก รวมถึงมีการอัดเป็นพอดแคสต์ให้สามารถเข้าไปฟังย้อนหลังได้ เพื่อให้ผู้ฟังไม่พลาดการติดตามเนื้อหาและเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น    

AR Remote Assistance

การจัดเวิร์กชอปพร้อมให้ผู้เข้าร่วมงานลงมือปฏิบัติจริงนั้นถือว่าเป็นอุปสรรคสำหรับงานประชุมสัมมนาออนไลน์เป็นอย่างมาก เพราะความห่างไกลระหว่างผู้เข้าร่วมงานและผู้จัดงาน ทำให้ไม่สามารถช่วยแนะนำแก้ไขงานให้ได้อย่างเต็มที่ แต่ปัญหาเหล่านั้นจะหมดไปด้วยเทคโนโลยี AR Remote Assistance หรือ AR ที่มีฟังก์ชันให้ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานสามารถขีดเขียนลงบนวีดีโอ และสิ่งที่เขียนก็จะไปปรากฏแบบเรียลไทม์บนหน้าจอของอีกฝ่าย ตัวอย่างซอฟต์แวร์ที่มีระบบ AR นี้ก็คือ Vuforia Chalk ที่ออกแบบมาเพื่อใช้สื่อสารกันระหว่างช่างเทคนิคที่ลงภาคสนามและผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในออฟฟิศ ซึ่งต้องอธิบายการปฏิบัติงานกันอย่างละเอียดแบบเห็นภาพชัดเจน หรืออย่างในธุรกิจขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ในการอธิบายขั้นตอนติดตั้งอุปกรณ์กับลูกค้า โดยเทคโนโลยีนี้สามารถนำมาปรับใช้กับเวิร์กชอปเพื่อให้ผู้จัดงานหรือผู้สอนสามารถให้คำแนะนำ คอมเมนต์งานได้อย่างละเอียด โดยไม่มีอุปสรรคทางการสื่อสาร รวมถึงช่วยให้ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานรู้สึกใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

Gamification 

Virtual Event ต้องสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน เพื่อให้งานสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานรู้สึกสนุกและเกิดการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันนั้นก็คือ Gamification หรือการนำกลไกอันสนุกของเกมที่มีกติกา คะแนน และของรางวัล มาปรับใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น อย่างการเรียนรู้ หรือทำการตลาด อีกทั้ง Virtual Event ยังนำมาใช้ในรูปแบบของกิจกรรมร่วมสนุกได้อีกด้วย เช่น การจัดให้มีช่วงตอบคำถามชิงรางวัลเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานตั้งใจรับชมรับฟังคอนเทนต์ หรือการแจกพอยท์เมื่อผู้ร่วมงานเข้าชม Virtual Booth ครบตามจำนวนที่กำหนดเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์บูธธุรกิจที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับงาน โดยผู้จัดงานสามารถให้ของรางวัลเป็นบัตรกำนัลหรืออัปเกรดให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถเข้าถึงคอนเทนต์แบบพรีเมียมของงานที่จัดขึ้นก็ได้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี 

Avatar

Metaverse ที่กำลังมาแรง ณ ปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอวตาร หรือ Avatar ที่สามารถใช้ชีวิตแทนเราในโลกเสมือนจริงบนสังคมออนไลน์ ซึ่งอุตสาหกรรมไมซ์ได้นำ Avatar มาปรับใช้ใน Virtual Event ได้อย่างลงตัว ด้วยการนำมาใช้แทนตัวผู้เข้าร่วมงานให้สามารถเดินโลดแล่นไปในงานได้แบบเสมือนจริงในรูปแบบ 3D แม้ตัวจะอยู่ห่างไกลจากพื้นที่จัดงานก็ตาม โดยเทคโนโลยี Avatar นี้ผู้จัดงานนิยมใช้ในงานแสดงสินค้า งานนิทรรศการ ประชุมสัมมนา ไปจนถึงงานอีเวนต์ต่าง ๆ อย่างงานวิ่งมาราธอน หรืองานคอนเสิร์ตก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งการใช้เทคโนโลยี Avatar นี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมงานรู้สึกเหมือนอยู่ในงานจริง และได้รับประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เหมือนใคร

สิ่งที่เรานำมาเสนอวันนี้ หลายท่านคงทึ่งไปกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ใน Virtual Event ทั้งแบบเสียง ภาพ เกม ไปจนถึงแบบ 3D บอกได้เลยว่านอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้จัดงานแล้ว ยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานรู้สึกสนุกและได้รับประสบการณ์ที่ดีไม่น้อยไปกว่าการจัดงานแบบปกติอย่างแน่นอน 


แชร์บทความ