รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงให้ดำเนินกิจการ และกิจกรรมภายใต้เงื่อนไขของการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่ได้ประกาศไว้แล้ว เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร หรือมาตรการควบคุมโรคแนวใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเข้าใจสถานการณ์ ฟื้นฟูความเป็นอยู่ให้ใกล้กับภาวะปกติ สอดคล้องกับแผนการเปิดประเทศ 

นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนด และข้อปฏิบัติการผ่อนปรนหลายมาตรการ สาระสำคัญประกอบด้วย การปรับเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน ปรับลดจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อนุญาตให้จัดการประชุมและสัมมนา และเพิ่มจำนวนคนเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ พร้อมกันนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ประกาศใช้แนวปฏิบัติใหม่สำหรับสายการบินและสนามบินภายในประเทศ โดยให้มีจำนวนผู้โดยสารได้ตามความจุของอากาศยานในการบินเที่ยวบินนั้น ๆ 

ข้อกำหนดจากรัฐบาลทั้งหมดนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

1. การเดินทางเข้าประเทศในเขตพื้นที่จังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยว

รัฐบาลได้มีการประกาศแนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2564 โดยให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ ในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นจังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล มีการตรวจหาเชื้อโรคโควิด 19 โดยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่เดินทางเข้ามาในประเทศ โดยห้ามเดินทางออกนอกโรงแรม หรือที่พักจนกว่าจะมีผลการตรวจยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด 19 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6 - 7 ของระยะเวลาที่อยู่ในประเทศ หรือตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

2. การปรับเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์

ศบค. มีการปรับเขตพื้นที่จังหวัดดังนี้ 

- พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 23 จังหวัด ได้แก่จังหวัด กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตากนครนายก นครปฐม นครศรีธรรมราช นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา ระยอง ราชบุรี สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี

- พื้นที่ควบคุมสูงสุด 30 จังหวัด ได้แก่จังหวัด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราดนครราชสีมา นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ระนอง ลพบุรี ศรีสะเกษ สตูล สระแก้ว สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี อุบลราชธานี 

- พื้นที่ควบคุม 24 จังหวัด ได้แก่จังหวัด กระบี่ กำแพงเพชร นครพนม น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ พังงา แพร่ พะเยา ภูเก็ต มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย สกลนคร สุโขทัย หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานีอำนาจเจริญ

โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ ในประกาศก่อนหน้านี้มาใช้เท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งกับข้อกำหนดนี้

3. ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

กำหนดจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มทำกิจกรรมตามพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้

1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 50 คน

2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 100 คน 

3) พื้นที่ควบคุม ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 200 คน

4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 300 คน

5) พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 500 คน

โดยข้อห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ขั้นตอนการขออนุญาต การพิจารณาอนุญาต รวมทั้งกิจกรรมรวมกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นให้จัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามข้อ 4 และข้อ 5 แห่งข้อกำหนดฉบับที่ 30 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ยังคงบังคับใช้ต่อไป

4. ปรับเวลาการห้ามออกนอกเคหสถานสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ห้ามออกนอกที่พักระหว่างเวลา 23.00 น. ถึง 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 โดยให้การกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคลที่ได้รับการยกเว้น ที่ได้ประกาศหรืออนุญาตไว้ก่อนหน้านี้ยังคงบังคับใช้ต่อไป

5. มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 

สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้าให้เปิดดำเนินการต่อไป โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ดูแล ติดตามการดำเนินงานของสถานที่ กิจการ กิจกรรม ให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเตรียมสถานที่ ตรวจสอบระบบหมุนเวียนระบายอากาศ กำกับดูแลความพร้อมของบุคลากรผู้ให้บริการ และปฏิบัติตามเงื่อนไข การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ ตามที่กำหนด รวมทั้งมาตรการที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ ดังนี้

1) สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการและมีเงื่อนไขกำหนดเวลาไว้ อาทิ ร้านอาหารและเครื่องดื่มโรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา สวนสาธารณะ สามารถเปิดได้ตามเวลาปกติถึง 22.00 น.

2) ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือตลาดนัด สามารถเปิดจำหน่ายสินค้าได้ทุกประเภทตามเวลาปกติจนถึง 22.00 น. หากมีบริการเครื่องเล่น ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม สำหรับร้านสะดวกซื้อที่เปิดบริการกลางคืน ให้ปิดบริการช่วงเวลา 22.00 น. ถึง 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

3) ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สามารถเปิดให้บริการในลักษณะเช้าไปเย็นกลับได้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม โดยผู้รับบริการ และเจ้าหน้าที่ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด และให้ผู้ประกอบการสุ่มตรวจทุกสัปดาห์ด้วยชุดตรวจและน้ำยาวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV- 2 (เชื้อก่อโรค COVID -19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง หรือโดยวิธีการที่ทางราชการกำหนด เพื่อยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด 19 

4) โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ หรือสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการเพื่อการจัดประชุม สัมมนา หรือการจัดงานพิธีตามประเพณีนิยม ได้จนถึงเวลา 22.00 น. โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กรที่กำหนด เช่น การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน การให้ผู้เข้าร่วมงานสวมหน้ากากตลอดเวลา การจัดให้มีช่วงพักเพื่อระบายอากาศห้องประชุม การเตรียมอาหารแบบแยกชุด การเว้นระยะห่างไม่ให้แออัด รวมทั้งดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กำหนดอย่างเคร่งครัด

5) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการเพื่อการจัดประชุม สัมมนา หรือการจัดงานพิธีตามประเพณีนิยม ได้จนถึงเวลา 22.00 น. และให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กรที่กำหนดเช่นเดียวกับกรณีตามข้อ 4) โดยยังงดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และปิดให้บริการในส่วนที่เป็นร้านเกม ตู้เกม เครื่องเล่น สวนสนุก และสวนน้ำ

6. การขนส่งสาธารณะ 

การขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัดทุกประเภททั่วประเทศ ให้ผ่อนคลายมาตรการจำกัดจำนวนผู้โดยสาร ตามที่เคยประกาศไว้ในข้อ 7 แห่งข้อกำหนดฉบับที่ 32 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2564 โดยผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขตามที่กำหนด และสอดคล้องกับความเหมาะสมของยานพาหนะ และสภาพการเดินทาง 

ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร จังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบ กำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งการขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัดทุกประเภททั่วประเทศให้เป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศปก. ศบค.) กำหนด โดยจัดให้มีจำนวนเพียงพอและเหมาะสมแก่การให้บริการประชาชน

7. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ของหน่วยงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและเอกชนยังคงปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำการอย่างเต็มความสามารถ โดยการปฏิบัติงานดังกล่าวต้องไม่กระทบกับภารกิจเพื่อการให้บริการประชาชน

8. การผ่อนคลายมาตรการเพื่อกิจการหรือการดำเนินกิจกรรมบางประเภท 

1) ร้านเกม ตู้เกม หรือเครื่องเล่น ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ที่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เปิดดำเนินการได้ในลักษณะของเกมหรือเครื่องเล่นที่มีผู้เล่นเป็นผู้ใช้เครื่องเล่นเดี่ยว หรือการเล่นเป็นคู่เท่านั้น โดยให้ผู้เล่นสวมหน้ากากตลอดเวลา แต่สวนสนุก และสวนน้ำยังคงปิดดำเนินการ 

2) การปรับเงื่อนไขกำหนดเวลาการให้บริการของสวนสาธารณะ สนามกีฬา ยิม ฟิตเนส หรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายทุกประเภท ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติถึงเวลา 22.00 น.

9. การเตรียมความพร้อมเพื่อผ่อนคลายมาตรการสำหรับกิจการบางประเภทในอนาคต 

สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังคงปิดดำเนินการทั่วประเทศผู้ประกอบการ หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานประกอบการควรเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม จัดการสถานที่และบุคลากร เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่หรือติดโรค เช่น จัดสถานที่ให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้ดี หรือมีระบบฟอกอากาศ ให้พนักงาน ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ คำแนะนำ และแนวปฏิบัติของราชการ ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมในการกำกับดูแลให้สถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ เพื่อเตรียมผ่อนคลายให้เปิดได้ในอนาคตตามความพร้อม ความเหมาะสม ตามแผน และกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนด

แนวปฏิบัติสําหรับสายการบินและสนามบินภายในประเทศ

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ประกาศแนวปฏิบัติสําหรับสายการบินและสนามบินภายในประเทศให้สอดคล้องกับการปรับลดเวลาการออกนอกเคหสถานของรัฐบาล ดังนี้

1. ให้สายการบินจำกัดการปฏิบัติการบินในช่วงเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐบาลกำหนดขึ้นใหม่ คือ ระหว่างเวลา 23.00 น. ถึง 03.00 น. ของวันถัดไป เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้โดยสารในการเดินทางระหว่างสนามบินและที่พัก และสอดคล้องกับการบริการขนส่งสาธารณะประเภทอื่น 

2. สามารถมีจำนวนผู้โดยสารได้ตามความจุของอากาศยานที่ทำการบินเที่ยวบินนั้น ๆ และให้สายการบินพิจารณาจัดที่นั่งในห้องโดย สารอย่างเหมาะสม เป็นไปตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุด หรือมีประกาศอื่นใดเพิ่มเติม

สามารถตรวจสอบประกาศและมาตรการของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้

http://www.moicovid.com/ข้อมูลสำคัญ-จังหวัด

อ้างอิง

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/251/T_0053.PDF http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/251/T_0058.PDF

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/251/T_0059.PDF   

https://www.caat.or.th/th/archives/61140 

###

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากองค์การอนามัยโลก 

https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/situation-reports

ศูนย์ข้อมูลกรมควบคุมโรคติดต่อ โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 

https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ โทร +66 (0) 2694 6000 

https://www.businesseventsthailand.com/en/situation-update-coronavirus-covid-19 หรือ info@tceb.or.th




แชร์บทความ