รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)




รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

เรื่อง  การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัด และการบังคับใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564


ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 28 กำหนดมาตรการที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในกรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่ได้กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2564 โดยมีข้อกำหนดและข้อปฏิบัติดังนี้ 

1. ความมุ่งหมายของมาตรการ
มาตรการและข้อปฏิบัติต่างๆในข้อกำหนดฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการที่จำเป็นและเร่งดำเนินการโดยด่วนเพื่อลดการออกนอกที่พักของประชาชนซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโดยประวัติการสัมผัสเชื้อของผู้ป่วยมักเกิดขึ้นในครอบครัวจากการติดต่อสัมผัสกับบุคคลที่มีการเดินทางจากข้อมูลพบว่าการติดเชื้อและแพร่ระบาดในครอบครัวและเขตชุมชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงมาก แม้จะมีการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้วแต่ยังคงต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน สิ่งที่ต้องร่วมมือกันในตอนนี้ คือ ชะลอการระบาดที่รุนแรงของโรค โดยหยุดกระทำการใดๆ ก็ตามที่เป็นความเสี่ยง หรือเป็นเหตุให้เชื้อแพร่ระบาดออกไป

2. ปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์

ปรับเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตามนี้ 

- พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัดได้แก่จังหวัด กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา

        - พื้นที่ควบคุมสูงสุด 53 จังหวัด ได้แก่จังหวัด กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นครนายก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์  หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุดรธานี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ

- พื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด ได้แก่จังหวัด ชุมพร นครพนม น่าน บึงกาฬ พังงา แพร่ พะเยา มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน สุราษฎร์ธานี 

- พื้นที่เฝ้าระวังสูง 1 จังหวัด ได้แก่จังหวัดภูเก็ต 

3. การลดและจำกัดการเดินทาง

ประชาชนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดควรเลี่ยงจำกัดงดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกที่พักโดยไม่จำเป็นสำหรับการเดินทางในกรณีที่จำเป็น อาทิ การจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต การเดินทางเพื่อไปพบแพทย์ การรับวัคซีน หรือการปฏิบัติงานประกอบอาชีพที่ไม่สามารถปฏิบัติงานนอกที่ตั้งได้ สามารถทำได้ด้วยความระมัดระวัง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดอย่างเคร่งครัดให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนของกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนอาสาสมัครและจิตอาสาในการช่วยเหลือกระจายสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

4. กำหนดพื้นที่ห้ามออกนอกเคหสถานเพิ่ม 

ห้ามบุคคลในเขตพื้นควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ออกนอกที่พักระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เป็นอย่างน้อย 14 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่และการกำหนดบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนด ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 หรือเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดและต้องโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 

5. การกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม และการคัดกรองการเดินทางเฉพาะเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดในเส้นทางเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อคัดกรอง หรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่เพื่อไปยังพื้นที่อื่น โดยให้เป็นตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศปก. ศบค.) กำหนด เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการข้อห้าม ข้อยกเว้น หรือแนวทางที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ข้อกำหนด ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ทั้งนี้ให้นำกรณีหรือบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 4 และข้อ 5 ของข้อกำหนด ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 มาใช้

6. การขนส่งสาธารณะ

ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตรวจสอบ กำกับ ดูแลการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะทุกประเภทระหว่างจังหวัดทั่วประเทศ ให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศปก. ศบค. กำหนด โดยจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่ให้เกิน 50% ของความจุในแต่ละยานพาหนะ รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่างและปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยพิจารณาให้เพียงพอต่อความจำเป็นและเหมาะสมในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะการเดินทางเพื่อรับบริการทางการแพทย์และการฉีดวัคซีน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป 

7. มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาคำสั่งปิดสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงและให้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน โดยการให้บริการดังต่อไปนี้ให้เปิดดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบระเบียบและมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดมากขึ้นจากที่เคยกำหนดไว้แล้ว ดังนี้

1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้ถึง 20.00 น.  

2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกันให้เปิดบริการได้เฉพาะแผนก ซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ พื้นที่ให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์การสาธารณสุขอื่น ๆ ของภาครัฐ โดยให้เปิดได้ถึง 20.00 น.

3) โรงแรมเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติโดยงดกิจกรรมจัดการประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง

4) ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด เปิดได้ถึง 20.00 น. ร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ให้เปิดบริการ 04.00 น.และปิดบริการ 20.00 น.

5) โรงเรียน สถานศึกษา สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้

สำหรับการดำเนินงานของโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (Delivery Online) ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็นโดยผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศ เรื่อง คำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 37 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เพื่อยกระดับมาตรการและบังคับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยให้ปิดสถานที่ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 32 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ฉบับที่ 33 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 ฉบับที่ 34 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ฉบับที่ 35 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ฉบับที่ 36 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564

การให้บริการหรือการดำเนินกิจกรรม ให้เปิดดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 โดยกิจการที่ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็นเพิ่มเติมจากข้อกำหนด ฉบับที่ 28 ได้แก่ ตลาดนัด (เฉพาะส่วนที่จำหน่ายอาหารและวัตถุดิบเพื่อการบริโภค) สถานรับเลี้ยงเด็ก (เฉพาะสถานที่รับเลี้ยงเด็กในโรงพยาบาลและสถานที่ที่มีการพักค้างคืนเป็นปกติ) สถานดูแลผู้สูงอายุ (เฉพาะที่มีการพักค้างคืนเป็นปกติ) ธุรกิจประกันภัย หน่วยบริการงานช่วยเหลือกู้ภัย ศูนย์บริการหรือร้านซ่อมแซมยานพาหนะ ร้านแบตเตอรี่ หน่วยบริการตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำ ระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผู้จัดเก็บและกำจัดขยะโดยให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง 

8. ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนเกิน 5 คน โดยให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามข้อกำหนด ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2564 โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดการอบรม สัมมนา หรือประชุม ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก กิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่เคยอนุญาตให้จัดได้ตามข้อกำหนดที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ หากต้องการจะจัดกิจกรรมในช่วงนี้ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก. ศบค. กำหนด

9. การปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ 

ให้หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในความรับผิดชอบดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจำนวน และเน้นการปฏิบัติงาน หรือจัดกิจกรรมโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด รวมทั้งงดการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือเคลื่อนที่ของคนจำนวนมาก เช่น จัดประชุม สัมมนา จัดสอบ จัดฝึกอบรม ให้พิจารณาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้นสำหรับการปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ให้เปิดบริการเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุข การควบคุมโรค ระบบสาธารณูปโภค การจราจร การบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่มีกำหนดเวลาปฏิบัติชัดเจน และนัดหมายไว้แล้วล่วงหน้า และเป็นการปฏิบัติงานที่สามารถทำได้ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโดยให้พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 สำหรับการปฏิบัติงานของภาคเอกชนจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเช่นเดียวกัน 

10. การบูรณาการและการประสานงาน

ให้ส่วนราชการหน่วยงานของรัฐและศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ภายใต้ ศบค. พิจารณามาตรการและเร่งรัดการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้เกิดผลที่รวดเร็วเป็นรูปธรรมรวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานของ ศปก. ศบค. ตามที่ได้รับการร้องขอหรือประสานงานในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการของประชาชนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้พิจารณา กลั่นกรอง และทำความเห็นเบื้องต้นก่อนหารือไปยัง ศปก.ศบค. เพื่อพิจารณา

11. การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรา ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการตามข้อกำหนดนี้ในทุก 7 วันแต่การเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และการประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมล่วงหน้าให้ทำได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป 

สามารถตรวจสอบประกาศและมาตรการของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้

http://www.moicovid.com/ข้อมูลสำคัญ-จังหวัด

อ้างอิง

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/160/T_0001.PDF

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/160/T_0006.PDF

http://www.prbangkok.com/th/post/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQ4Nzg1Mg


###


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากองค์การอนามัยโลก 

https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/situation-reports

ศูนย์ข้อมูลกรมควบคุมโรคติดต่อ โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 

https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ โทร +66 (0) 2694 6000 

https://www.businesseventsthailand.com/en/situation-update-coronavirus-covid-19 หรือ info@tceb.or.th





แชร์บทความ