รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เรื่อง ปรับเขตพื้นที่ควบคุม และการผ่อนคลายมาตรการ วันที่ 25 มิถุนายน 2564

editor image

รายงานสถานการณ์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

เรื่อง  ปรับเขตพื้นที่ควบคุม และการผ่อนคลายมาตรการ

วันที่ 25 มิถุนายน 2564


วันที่ 19 มิถุนายน 2564 รัฐบาลและกรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) โดยผ่อนคลายกฎระเบียบในแต่ละพื้นที่รวมทั้งหมด 5 พื้นที่ พร้อมกำหนดแนวทางเปิดสถานที่ท่องเที่ยว และแนวทางการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า

การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่นอกที่พักอาศัยหรืออยู่ในที่สาธารณะอย่างถูกวิธีตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ยังเป็นข้อปฏิบัติจำเป็นอยู่ หากพบผู้ไม่ปฏิบัติตามให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือน ถ้ายังคงไม่ปฏิบัติตามให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต่อไป

ในกรณีที่การสวมหน้ากากตลอดเวลาเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินกิจกรรม ซึ่งเป็นกรณีที่ได้รับการอนุมัติจาก ศบค. หากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้กำหนดให้มีมาตรการตรวจคัดกรองมาตรการควบคุมความเสี่ยงมาตรการตรวจเมื่อพบผู้ติดเชื้อรวมทั้งได้ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดแล้ว ให้ผ่อนผันการสวมหน้ากากได้เฉพาะช่วงเวลาของการปฏิบัติหน้าที่หรือ กิจกรรมนั้นตามความจำเป็นเหมาะสม และสมควรแก่เหตุ ตามข้อแนะนำหรือแนวปฏิบัติที่ทางราชการกำหนด

การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ 
การบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ แบ่งเป็น 5 ระดับ ตามพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้ 
1. พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 
2. พื้นที่ควบคุมสูงสุด 
3. พื้นที่ควบคุม 
4. พื้นที่เฝ้าระวังสูง 
5. พื้นที่เฝ้าระวัง 
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดให้สองคล้องกับระดับพื้นที่สถานการณ์ในระยะต่อไป ให้ดำเนินการออกเป็นคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19)

มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำแนกตามพื้นที่สถานการณ์
1.พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ รวม 4 จังหวัด มีการผ่อนคลายมาตรการ ดังนี้
   1.1 โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท งดใช้อาคารสถานที่เพื่อการเรียน การสอน อบรม หรือกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากยกเว้น การใช้สถานที่เพื่อจัดกิจกรรมตามแนวทางหรือลักษณะที่นายกรัฐมนตรี หรือ ศบค.อนุญาตให้ดำเนินการได้ โดยเสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหาร สถานการณ์โควิด 19 (ศปก. ศบค.) พิจารณาก่อนดำเนินการ หรือเป็นกรณีที่เคยได้รับยกเว้น ดังนี้

  • เป็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมสื่อสารทางไกลด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์
  • การใช้เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ ให้อุปการะแก่บุคคล
  • การจัดกิจกรรมของราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด
  • เป็นโรงเรียนหรือสถาบันขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งหมดไม่เกิน 120 คน หรือเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
    1.2 ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ให้บริโภคในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้นั่งในร้านที่เป็นห้องปรับอากาศได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งปกติห้ามบริโภค สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยผู้ประกอบการต้องดำเนินมาตรการคัดกรอง เว้นระยะห่างและจัดระเบียบผู้ใช้บริการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด    
     1.3 ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และงดกิจกรรมส่งเสริม การขาย งดให้บริการตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก
    1.4 สนามกีฬา สถานที่เพื่อออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ยังไม่เปิดให้บริการ ยกเว้นการใช้สถานที่เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง หรือเป็นประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนามเมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
   1.5 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกันมากกว่า 50 คน และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

จากข้อกำหนด ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2564 ที่กำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยมีกรุงเทพมหานครอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม บางประเภทตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 32 ลงวันที่ให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม บางประเภทตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 32 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 สามารถเปิดดำเนินการได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามเอกสารแนบท้าย ประกาศ กทม ฉบับที่ 33 อย่างเคร่งครัด ตามรายละเอียดดังนี้

    1. สระว่ายน้ำสาธารณะ หรือกิจกรรมอื่นๆในทำนองเดียวกัน 
    2. สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมทางน้ำในบึง เช่น เจ็ตสกี ไคท์เซิร์ฟ เครื่องเล่นประเภทบานาน่าโบ๊ต โดยจำกัดจำนวนผู้เล่นตามจำนวนเครื่องและขนาดสถานที่สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกิน 21.00 น. และสามารถจัดแข่งกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด
    3. ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หอศิลป์
    4. ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดเอกชน และบ้านหนังสือ
    5. ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ให้บริโภคในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. แต่ห้ามบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจำกัดจำนวนผู้นั่งในร้านเฉพาะพื้นที่ห้องปรับอากาศได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งปกติ โดยผู้ประกอบการต้องจัดให้มีมาตรการคัดกรองผู้เกี่ยวข้อง เว้นระยะห่าง และจัดระเบียบผู้ใช้บริการตามคำแนะนำและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
    6. สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้ง หรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง หรือประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดีสามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกิน 21.00 น. สามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
    7. ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ
    8. การจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค อาทิ การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของต่างๆ การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ การเข้าค่าย การถ่ายทำภาพยนตร์ หรือรายการโทรทัศน์ กิจกรรมทางศาสนา การปฏิบัติธรรม การพบปะ ญาติผู้ใหญ่ ให้ดำเนินการโดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 50 คน กรณีเกิน 50 คน แต่ไม่เกิน 500 คน ให้ขออนุญาตยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงาน กรณีเกิน 500 คน ให้ขออนุญาต โดยยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ก่อนจัดงาน เว้นแต่เป็นการดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐหรือเป็น กิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค

กรณีนอกเหนือจากนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 32 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

2. พื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดตรัง จังหวัดนครปฐม จังหวัดปัตตานี จังหวัดเพชรบุรี  จังหวัดสงขลา จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสระบุรี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส รวม 11 จังหวัด มีการผ่อนคลายมาตรการ ดังนี้
2.1 โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท สามารถทำกิจกรรมเพื่อการเรียน การสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือ กิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้โดยพิจารณาตามความจำเป็น และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ
2.2 ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 23:00 น. ห้ามบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
2.3 ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และงดกิจกรรมส่งเสริมการขาย งดให้บริการตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก
2.4 สนามกีฬา สถานที่เพื่อออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส เปิดให้บริการได้ไม่เกิน 21.00 น. สามารถจัดแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
2.5 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกันมากกว่า 100 คน และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

3. พื้นที่ควบคุม ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดระนอง จังหวัดระยอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสมุทรสงคราม รวม 9 จังหวัด มีการผ่อนคลายมาตรการ ดังนี้
3.1 โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท สามารถใช้อาคารสถานที่เพื่อการเรียน การสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือ กิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยพิจารณาตามความจำเป็น และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข
3.2 ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สามารถบริโภคภายในร้านได้ในเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
3.3 ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ งดให้บริการตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก
3.4 สนามกีฬา สถานที่เพื่อออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส เปิดให้บริการได้ตามเวลาปกติ สามารถจัดแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
3.5 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกันมากกว่า 150 คน และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณีกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

4. พื้นที่เฝ้าระวังสูง ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยนาท จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชุมพร จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตราด จังหวัดตาก จังหวัดนครนายก จังหวัดนครพนม จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดน่าน จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดพะเยา จังหวัดพังงา จังหวัดพัทลุง จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดแพร่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดลพบุรี จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดเลย จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสตูล จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอ่างทอง จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุบลราชธานี รวม 53 จังหวัด มีการผ่อนคลายมาตรการ ดังนี้
        4.1 โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท สามารถใช้อาคารสถานที่เพื่อการเรียน การสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือ กิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้โดยพิจารณาตามความจำเป็น และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข
        4.2 ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ งดให้บริการตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก
        4.3 สนามกีฬา สถานที่เพื่อออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส เปิดให้บริการได้ตามปกติ สามารถจัดแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม
        4.4 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกันมากกว่า 200 คน และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

5. พื้นที่เฝ้าระวัง สามารถเปิดดำเนินการสถานที่ กิจการ กิจกรรมได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ตามคำแนะนำของราชการ รวมทั้งกฏหมาย กฏ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 300 คน และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต เพื่อให้เหมาะสมกับ สภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยภายในจังหวัด และการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด
ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี อาจเสนอต่อ ศปก.ศบค. ตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในความรับผิดชอบของตน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ในขณะนั้น และอาจพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยสั่งปิด จำกัด หรือห้ามดำเนินการของสถานที่ หรือสั่งงดการทำกิจกรรม ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อกำหนดนี้ได้ โดยให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. กำหนด

มาตรการปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วประเทศ
เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในวงกว้าง ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละเขตพื้นที่ โดยให้นำเสนอต่อ ศปก.ศบค. เพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง และประเมินความเหมาะสม ก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการ

มาตรการตรวจสอบเข้มงวดสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจสอบสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น โรงงาน สถานที่พักของแรงงานต่างด้าว หรือสถานที่อื่นๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกำหนด ในกรณีพบผู้ไม่ปฏิบัติตามให้ว่ากล่าวตักเตือน ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

มาตรการเกี่ยวกับการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ของจังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทาง พิจารณาอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเพื่อทำงานข้ามจังหวัดได้โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการในแต่ละเขตพื้นที่เป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงโดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามแนวทางที่ทางราชการกำหนด ให้อนุโลมถึงกรณีการทำงานภายในเขตจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พนักงานเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตรวจสอบกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด

มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง
ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาขยายการดำเนินมาตรการ การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง เพื่อลดจำนวนการเดินทางของบุคลากร เป็นระยะเวลาตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อป้องกันและลดโอกาสการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยพิจารณาให้เพียงพอกับการให้บริการประชาชน

การผ่อนคลายสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์
ให้สามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการที่กำหนดในการจำกัดจำนวนบุคคลที่เข้าร่วมการถ่ายทำ สามารถยกเว้นไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าในบางกรณีหรือบางช่วงเวลาของการถ่ายทำ โดยต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ตามที่ได้รับอนุมัติจาก ศคบ.

การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยว
ให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเตรียมพร้อมรองรับการดำเนินการตามแผนและมาตรการของรัฐบาลในการเปิดพื้นที่นำร่องเพื่อรับนักท่องเที่ยว ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การเตรียมความพร้อมของประชาชน ทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน โดยได้มีการกำหนดประเภท เงื่อนไข และรายละเอียดของบุคคลที่สามารถเดินทางเข้าประเทศภายใต้โครงการนำร่องนี้ ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่กำหนดไว้รองรับกรณีดังกล่าวเป็นการเฉพาะ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดด้วย

การประเมินความเหมาะสมของมาตรการ
ให้ ศปก.ศบค. พิจารณาและประเมินสถานการณ์เพื่อการปรับเขตพื้นที่ต่างๆให้สอดคล้องกับระดับพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนด การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในแต่ละระดับพื้นที่สถานการณ์ รวมทั้งเสนอแนวปฏิบัติเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมและการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆและเสนอต่อนายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. เพื่อพิจารณาอนุญาตต่อไป

การประสานงานและการบูรณาการความร่วมมือ
ให้ ศปก.ศบค. ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการขับเคลื่อน เร่งรัด และติดตามการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบูรณาการและประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ เอกชน และหน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งรวมถึงศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด 19 ให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบาย แนวทาง หลักเกณฑ์ และมาตรการที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาล หรือ ศบค. กำหนด

สามารถตรวจสอบประกาศและมาตรการของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
http://www.moicovid.com/ข้อมูลสำคัญ-จังหวัด

อ้างอิง
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/133/T_0001.PDF
http://www.prbangkok.com/th/post/view/MDY1cDBzNnM0NHIyb3Ezc3E2NnEyNDk0cDRyOTQzcjQ4MzA1Mg

###

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากองค์การอนามัยโลก 
https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/situation-reports

ศูนย์ข้อมูลกรมควบคุมโรคติดต่อ โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 
https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/index.php

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ โทร +66 (0) 2694 6000 
https://www.businesseventsthailand.com/en/situation-update-coronavirus-covid-19 หรือ info@tceb.or.th

แชร์บทความ